"ศุภมาส” รัฐมนตรี อว. ยกย่องความสำเร็จของนักประดิษฐ์นักวิจัยไทยบนเวทีนานาชาติ มอบประกาศนียบัตรในงาน “Internationally Outstanding Inventors Awards Ceremony”

 "ศุภมาส” รัฐมนตรี อว. ยกย่องความสำเร็จของนักประดิษฐ์นักวิจัยไทยบนเวทีนานาชาติ มอบประกาศนียบัตรในงาน “Internationally Outstanding Inventors Awards Ceremony”

วันที่ 16 ธันวาคม 2567 กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม โดย สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) จัดพิธีมอบประกาศนียบัตรแสดงความยินดีแก่นักประดิษฐ์และนักวิจัยไทยที่ชนะรางวัลจากเวทีนานาชาติ (Internationally Outstanding Inventors Awards Ceremony) โดยได้รับเกียรติจาก นางสาวศุภมาส อิศรภักดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เป็นประธานในพิธี พร้อมด้วย ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ กล่าวรายงาน เพื่อแสดงความยินดีกับนักประดิษฐ์นักวิจัยไทยในโอกาสที่สร้างชื่อเสียงให้กับประเทศและสร้างการยอมรับในความสามารถและมาตรฐานของสิ่งประดิษฐ์นวัตกรรมฝีมือของนักประดิษฐ์นักวิจัยไทย ณ โรงแรมอนันตรา สยาม กรุงเทพฯ

นางสาวศุภมาส อิศรภักดี รมว.อว. กล่าวว่า ความสำเร็จของนักประดิษฐ์และนักวิจัยไทยในเวทีระดับนานาชาติ ไม่เพียงแต่สร้างความภาคภูมิใจให้กับผู้สร้างสรรค์ผลงาน แต่ยังแสดงถึงศักยภาพและความพร้อมของประเทศไทยในการก้าวสู่การเป็นผู้นำด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมในเวทีโลก และ อว. มุ่งมั่นที่จะสนับสนุนและส่งเสริมศักยภาพของนักประดิษฐ์และนักวิจัยไทยอย่างต่อเนื่อง เพื่อพัฒนาองค์ความรู้และเทคโนโลยีที่ตอบโจทย์ความต้องการทั้งในระดับประเทศและสังคมโลก อีกทั้งผลักดันความร่วมมือด้านการวิจัยและนวัตกรรมระหว่างประเทศ เพื่อผลักดันนักวิจัยและนักประดิษฐ์ไทยให้สามารถก้าวไกลในระดับนานาชาติ

ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ กล่าวว่า เป็นเวลากว่า 10 ปีที่ วช. ได้ดำเนินการส่งเสริมผลงานวิจัยและสิ่งประดิษฐ์ให้มีโอกาสเผยแพร่สู่เวทีนานาชาติ โดยได้รับการแต่งตั้งจากองค์กรด้านการประดิษฐ์ระดับนานาชาติหลายองค์กร อาทิ International Federation of Inventors’ Associations (IFIA), World Invention Intellectual Property Associations (WIIPA), และ Korea Invention Promotion Association (KIPA) เป็นต้น ในการทำหน้าที่รับสมัคร พิจารณา และคัดกรองผลงานเพื่อเข้าร่วมประกวดในเวทีนานาชาติในนามประเทศไทย โดยมีเป้าหมายหลักคือการเพิ่มโอกาสในการเผยแพร่ผลงานของนักประดิษฐ์และนักวิจัยไทยให้ได้รับการยอมรับในเวทีระดับนานาชาติ เพิ่มโอกาสการเข้าถึงกลุ่มผู้บริโภคใหม่ ๆ และส่งเสริมการพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้มีมาตรฐานและคุณภาพที่สามารถแข่งขันในตลาดโลกได้ นอกจากนี้ วช. ยังมุ่งมั่นที่จะสนับสนุนการพัฒนาศักยภาพของนักประดิษฐ์และนักวิจัยไทยผ่านการแลกเปลี่ยนความรู้และสร้างเครือข่ายความร่วมมือระดับโลก ซึ่งจะช่วยให้สามารถพัฒนางานวิจัยและนวัตกรรมที่มีคุณภาพและสอดคล้องกับความต้องการของตลาดโลกได้อย่างยั่งยืน

ในต้นปีงบประมาณ 2568 นี้นักประดิษฐ์และนักวิจัยไทยสามารถคว้ารางวัลรวมกว่า 259

ผลงานจาก 8 เวทีนานาชาติ ประกอบด้วย
1. เวที “The 18th International Warsaw Invention Show” (IWIS 2024) ณ กรุงวอร์ซอ สาธารณรัฐโปแลนด์
2. เวที “Taiwan Innotech Expo 2024” (TIE 2024) ณ เมืองไทเป ไต้หวัน
3. เวที “The International Trade Fair, Ideas, Inventions, and New Products” (iENA 2024) ณ เมืองนูเรมเบิร์ก สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมณี
4. เวที “Innoweek 2024” ณ กรุงทาชเคนต์ สาธารณรัฐอุซเบกิสถาน
5. เวที “EURO POLITEHNICUS 2024” ณ กรุงบูคาเรสต์ โรมาเนีย
6. เวที “2024 Seoul International Invention Fair” (SIIF 2024) ณ กรุงโซล สาธารณรัฐเกาหลี
7. เวที “The 4th Asia Exhibition of Innovations and Inventions Hong Kong” (AEII 2024) ณ เขตบริหารพิเศษฮ่องกงแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน
8. เวที “2024 Kaohsiung International Invention and Design EXPO” (KIDE 2024) ณ เมืองเกาสง ไต้หวัน

พิธีมอบประกาศนียบัตรในครั้งนี้ ไม่เพียงแต่เป็นการเชิดชูความสำเร็จของนักประดิษฐ์และนักวิจัยไทย ซึ่งสร้างชื่อเสียงให้กับประเทศไทยเท่านั้น แต่ยังเป็นการสะท้อนถึงศักยภาพและความสามารถของประเทศในด้านการวิจัยและนวัตกรรมที่สามารถแข่งขันและได้รับการยอมรับในเวทีระดับนานาชาติได้อย่างภาคภูมิใจ

ไม่มีความคิดเห็น