คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง จัดอบรม “การผลิตผ้าพิมพ์ลายจากสีธรรมชาติขั้นสูง (Advanced Eco Printing)” สนับสนุนแผนงานการท่องเที่ยวคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ บพข.

คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง จัดอบรม “การผลิตผ้าพิมพ์ลายจากสีธรรมชาติขั้นสูง (Advanced Eco Printing)” สนับสนุนแผนงานการท่องเที่ยวคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ บพข.
สาขาวิชาเทคโนโลยีการเกษตร และสาขาวิชาเทคโนโลยีชีวภาพ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง จัดอบรมการผลิตผ้าพิมพ์ลายจากพืชขั้นสูง "งานห่ม" รุ่นที่ 1 และรุ่นที่ 2 ระหว่างวันที่ 30 – 31 มีนาคม 2567 ณ อาคารคีรีมาศ มหาวิทยาลัยรามคำแหง หัวหมาก โดยมีวิทยากรประกอบด้วย ผศ.ดร.หฤษฎ์ นิ่มรักษา อาจารย์ ดร.ชมพูนุท พรเจริญนพ คุณจีรภา อริยเดช ว่าที่ร้อยตรีเทพไชย ปลั่งกลาง และคุณอารัตน์ ช่วยชาติ และมี ผศ.ดร.สัญญา กุดั่น รองคณบดีฝ่ายบริหาร เป็นประธานในพิธีเปิดการฝึกอบรมและมอบประกาศนียบัตร โครงการอบรมฯ ครั้งนี้สนับสนุนการยกระดับผู้ประกอบการท่องเที่ยวในชุมชนชายฝั่งทะเล จังหวัดตราด ชุมพร และสุราษฎร์ธานี เพื่อการท่องเที่ยวคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ ภายใต้แผนงานการท่องเที่ยวบนฐานมรดกทางธรรมชาติ การท่องเที่ยวที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และการท่องเที่ยวคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ บพข. 
ผศ.ดร.หฤษฎ์ นิ่มรักษา สาขาวิชาเทคโนโลยีการเกษตร คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง หัวหน้าโครงการฝึกอบรมฯ กล่าวว่า การผลิตผ้าพิมพ์ลายจากพืชขั้นสูง (Advanced Eco Printing) จะได้ผลิตภัณฑ์จากผ้ารูปแบบที่เรียกว่า “งานห่ม” ซึ่งเป็นเทคนิคการผลิตผ้าพิมพ์ลายที่กำลังได้รับความนิยมในปัจจุบัน โดยมีกระบวนการโอนถ่ายสีและลวดลายจากส่วนของใบ ดอก และผลของพืช ลงบนผืนผ้าด้วยวิธีการทางธรรมชาติ และใช้ผ้าหลักอีกผืนเพื่อชุบสีที่ต้องการ บิดหมาดแล้วนำมาห่ม หรือคลุมทับบริเวณผ้าและใบไม้ที่ได้วางไว้ก่อนแล้ว เพื่อให้ได้ลวดลายของใบไม้บนผืนผ้า และสีพื้นที่ได้จากการห่ม โดยผ้าที่ได้จากการพิมพ์ลายรูปแบบใหม่นี้มีความสวยงามมากยิ่งขึ้น สามารถนำไปประยุกต์เป็นผลิตภัณฑ์ผ้าได้อย่างหลากหลาย อาทิ เสื้อ ผ้าซิ่น ผ้าพันคอ ผ้าคลุมไหล่ หมวก กระเป๋า และรองเท้า เป็นต้น ซึ่งผลิตภัณฑ์เหล่านี้กำลังได้รับความสนใจเป็นอย่างมากทั้งในและต่างประเทศ เป็นการรณรงค์การใช้ผลิตภัณฑ์จากธรรมชาติ ปลอดภัยจากสารเคมีที่เป็นอันตรายต่อผู้ใช้และสภาพแวดล้อม รวมทั้งเป็นการใช้พืชที่มีในท้องถิ่น และนวัตกรรมเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ผู้เข้าอบรมสามารถผลิตผ้าพิมพ์ลายจากพืชสำหรับใช้ในชีวิตประจำวัน และจำหน่ายเป็นการค้าหรือส่งเสริมการท่องเที่ยวชุมชน
รศ.ดร.ธรรมศักดิ์ ยีมิน ผู้อำนวยการแผนงานการท่องเที่ยวบนฐานมรดกทางธรรมชาติ การท่องเที่ยวที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และการท่องเที่ยวคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ บพข. ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า การอบรมครั้งนี้มีผู้ประกอบการท่องเที่ยวชุมชนชายฝั่งทะเล จังหวัดตราด ชุมพร และสุราษฎร์ธานี เข้าร่วมการฝึกอบรมด้วย แผนงานกลุ่มการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ บพข. ที่ดำเนินงานโดยผู้ช่วยศาสตราจารย์สุภาวดี โพธิยะราช ผู้เชี่ยวชาญอาวุโส สกสว. และประธานคณะอนุกรรมการฯ นั้น ได้ดำเนินการร่วมกับหลายองค์กรจนทำให้เกิดการท่องเที่ยวคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ที่ขายได้จริงในตลาดต่างประเทศแล้ว 125 เส้นทาง องค์ความรู้ที่ได้จากการฝึกอบรม จะสามารถนำไปประยุกต์ใช้ เพื่อการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากภาคการท่องเที่ยว ซึ่งเป็นประเด็นหนึ่งที่มีความสำคัญสำหรับการท่องเที่ยวคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ ขณะนี้มหาวิทยาลัยรามคำแหงได้ดำเนินโครงการการยกระดับบริหารจัดการการท่องเที่ยวดำน้ำคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ในพื้นที่จังหวัดชุมพร สุราษฎร์ธานี และตราด โดยมี รศ.ดร.มาฆมาส สุทธาชีพ และอาจารย์ ดร.วิชิน สืบปาละ ภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ เป็นผู้ดำเนินการวิจัย ซึ่งจะสามารถนำเรื่องการผลิตผ้าพิมพ์ลายจากสีธรรมชาติขั้นสูง มาบูรณาการร่วมกันในการผลิตสินค้าของที่ระลึกจากท้องถิ่นสำหรับนักท่องเที่ยวดำน้ำ
ว่าที่ พ.ต. วัชรินทร์ แสวงการ ประธานกลุ่มโฮมสเตย์และการท่องเที่ยวโดยชุมชนท้องตมใหญ่ อำเภอสวี จังหวัดชุมพร กล่าวว่า การเข้ารับการฝึกอบรมครั้งนี้ทำให้ได้รับความรู้ เปิดมุมมองใหม่ และสามารถนำไปถ่ายทอดกับผู้ประกอบการในเครือข่ายท้องตมใหญ่ เพื่อเพิ่มรายได้ให้แก่ชุมชน วันนี้การท่องเที่ยวท้องตมใหญ่เข้าใจถึงปัญหาโลกร้อน ความจำเป็นที่ต้องช่วยกันลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และการส่งเสริมการท่องเที่ยวคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ เพื่อให้การท่องเที่ยวมีความยั่งยืน เศรษฐกิจชุมชนเติบโต และความร่วมมือกันในการอนุรักษ์และฟื้นฟูระบบนิเวศทางทะเลและชายฝั่ง
คุณโสภี พูนสดี ผู้ประกอบการท่องเที่ยวจากเกาะเต่า จังหวัดสุราษฎร์ธานี ให้ความเห็นความเห็นว่ามีโอกาสเข้ารับการอบรมโดยการสนับสนุนจากแผนงานการท่องเที่ยวคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ของมหาวิทยาลัยรามคำแหงอย่างต่อเนื่อง เป็นการแลกเปลี่ยนประสบการณ์และได้ข้อมูลใหม่ๆ ของสีที่ได้จากพืชชนิดต่างๆ ของแต่ละพื้นที่ โดยตนเองได้นำมาประยุกต์ใช้ในพื้นที่เกาะเต่า และได้นำเอาเปลือกหอยฝาเดียวที่เป็นศัตรูของปะการังจากแหล่งดำน้ำเกาะเต่ามาบดเพื่อสกัดสีสำหรับการพิมพ์ผ้าลายจากสีธรรมชาติร่วมกับพืชที่มีอยู่ในท้องถิ่นด้วย สินค้าผ้าพิมพ์ลายจากสีธรรมชาติ สามารถขายได้ในราคาสูงกับลูกค้ากลุ่มที่เน้นงานศิลปะ และเห็นคุณค่าของการใช้วัตถุดิบจากธรรมชาติ ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม 
คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง ดำเนินการพัฒนาการผลิตผ้าพิมพ์ลายจากสีธรรมชาติ และจัดโครงการฝึกอบรมให้แก่ประชาชนทั่วไปอย่างต่อเนื่อง ทำให้มีเครือข่ายของผู้เข้ารับการฝึกอบรมจากทั่วประเทศ จึงมีข้อมูลการผลิตผ้าพิมพ์ลายจากสีธรรมชาติเพิ่มมากขึ้น และสามารถนำมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันได้ นอกจากนี้โครงการฝึกอบรมฯ ยังได้บูรณาการร่วมกับการเรียนการสอน การวิจัย การบริการวิชาการแก่สังคม และการทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม รวมทั้งดำเนินงานร่วมกับโครงการเกษตรอินทรีย์ และการส่งเสริมโมเดลเศรษฐกิจ BCG (เศรษฐกิจชีวภาพ (Bio Economy) เศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) และเศรษฐกิจสีเขียว (Green Economy)) เพื่อพัฒนาประเทศทั้งในด้านด้านสังคม เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อม 

ไม่มีความคิดเห็น