สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี พระราชทาน “Platinum Award” ม.ศิลปากร - มทร.อีสาน ในงานมหกรรมงานวิจัยแห่งชาติ 2566

สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม จัดพิธีมอบรางวัล Thailand Research Expo 2023 Award ที่นำผลงานร่วมนำเสนอในพิธีปิดงานมหกรรมงานวิจัยแห่งชาติ 2566 (Thailand Research Expo 2023) ซึ่งผลงานวิจัยและนวัตกรรมที่ได้รับรางวัล Platinum Award 
และถ้วยรางวัลพระราชทาน จาก สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้แก่ มหาวิทยาลัยศิลปากร โดยผลงาน “สมุทรสงครามอยู่ดี : การขับเคลื่อนเศรษฐกิจสร้างสรรค์ฐานนิเวศวัฒนธรรมและวิถีชีวิตชุมชน” และ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน 
โดยผลงาน “ระบบสมาร์ทฟาร์มและระบบอัตโนมัติสำหรับการเพาะปลูกพืชผักปลอดสารพิษ” ในงาน “มหกรรมงานวิจัยแห่งชาติ 2566 (Thailand Research Expo 2023)” ณ เวที Highlight Stage โรงแรมเซ็นทาราแกรนด์และบางกอกคอนเวนชันเซ็นเตอร์ เซ็นทรัลเวิลด์ กรุงเทพมหานคร

ดร.วิภารัตน์ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ กล่าวว่า วช. ได้สนับสนุนและกระตุ้นให้หน่วยงานต่าง ๆ เห็นความสำคัญในการนำเสนอผลงานวิจัยและกิจกรรมส่งเสริมการวิจัยที่มีคุณภาพเข้าร่วมในงาน “มหกรรมงานวิจัยแห่งชาติ 2566 (Thailand Research Expo 2023)” และได้จัดให้มีกิจกรรม Thailand Research Expo 2023 Award ซึ่งเป็นการพิจารณาคัดเลือกผลงานที่มีกระบวนการนำเสนอที่มีความโดดเด่น ในรูปแบบที่หลากหลายและสามารถเชื่อมโยงส่งต่องานวิจัยและนวัตกรรมไปสู่การใช้ประโยชน์ต่อไปได้โดยแบ่งผลงานออกเป็น 5 ประเภทและมีหน่วยงานที่ได้รับรางวัลประเภทต่าง ๆ ซึ่งรางวัล Platinum Award 
จำนวน 2 รางวัล ได้แก่ มหาวิทยาลัยศิลปากร โดยผลงาน “สมุทรสงครามอยู่ดี : การขับเคลื่อนเศรษฐกิจสร้างสรรค์ฐานนิเวศวัฒนธรรมและวิถีชีวิตชุมชน” และ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน โดยผลงาน “ระบบสมาร์ทฟาร์มและระบบอัตโนมัติสำหรับการเพาะปลูกพืชผักปลอดสารพิษ” 

มหาวิทยาลัยศิลปากร ผลงาน “สมุทรสงครามอยู่ดี : การขับเคลื่อนเศรษฐกิจสร้างสรรค์ฐานนิเวศวัฒนธรรมและวิถีชีวิตชุมชน” ภายใต้กรอบการวิจัย “มหาวิทยาลัยกับการขับเคลื่อนทุนทางวัฒนธรรมเพื่อการพัฒนาเชิงพื้นที่” ได้รับทุนสนับสนุนจากหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) โดยมุ่งจัดการองค์ความรู้และเก็บข้อมูลปฐมภูมิทางวัฒนธรรมที่แสดงให้เห็นปฏิสัมพันธ์ระหว่างผู้คนกับสิ่งแวดล้อม และนิเวศวิทยาวัฒนธรรม ซึ่งส่งผลให้เกิดเป็น  วิถีชีวิตอันเป็นเอกลักษณ์ในพื้นที่จังหวัดสมุทรสงคราม เพื่อนำไปสู่การจัดระบบฐานข้อมูลสารสนเทศแผนที่ทางวัฒนธรรม (Geographic Informative Cultural Atlas) เพื่อความเข้าใจต้นทุนทางสิ่งแวดล้อมและวัฒนธรรม ภายใต้กลไกการมีส่วนร่วมกับหน่วยงานภาครัฐ ภาคประชาสังคม ภาคประชาชน และภาคเอกชน และผู้มีส่วนได้ส่วนเสียอย่างใกล้ชิด (Stakeholder Engagement) โดยมีเป้าหมายไปสู่การพัฒนาเชิงพื้นที่ให้เกิดความเข้มแข็งในมิติสังคมและเศรษฐกิจ ที่สามารถนำไปสู่การวิเคราะห์ข้อมูล

ในการวางแผนกำหนดยุทธศาสตร์ และการเสริมสร้างองค์ความรู้ด้านศิลปะและวัฒนธรรม และการจัดการองค์ความรู้เพื่อด้านศิลปะและวัฒนธรรมเพื่อการพัฒนาเชิงพื้นที่ และนำไปสู่การประเมินผลตามตัวชี้วัดด้านเศรษฐกิจชุมชนบนฐานคิดของเศรษฐกิจฐานวัฒนธรรม นับเป็นผลงานอันโดดเด่นที่ช่วยยกระดับในการพัฒนาคุณภาพชีวิตและเศรษฐกิจของไทยให้ยั่งยืนได้อย่างแท้จริง


ในด้านของ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน ผลงาน “ระบบสมาร์ทฟาร์มและระบบอัตโนมัติสำหรับการเพาะปลูกพืชผักปลอดสารพิษ” เป็นผลผลิตตามโครงการย่อยภายใต้ชุดโครงการ การพัฒนาต้นแบบการเรียนรู้และนวัตกรรมเพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากที่ยั่งยืน โดยมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมการใช้ระบบเกษตรอัจฉริยะหรือสมาร์ทฟาร์มให้กับชุมชนและสร้างต้นแบบระบบการบริหารจัดการธุรกิจการเกษตร อย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผลเพื่อพัฒนาพื้นที่ตามโครงการให้เป็นแหล่งเรียนรู้การประกอบการด้านธุรกิจการเกษตรปลอดภัยและยั่งยืนด้วยนวัตกรรมระบบสมาร์ทฟาร์มและระบบอัตโนมัติสำหรับการเพาะปลูกพืชผักปลอดสารพิษที่จะช่วยสร้างรายได้ให้กับเกษตรกรในพื้นที่ให้มีคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น

ทั้งนี้ ผลงานวิจัยและนวัตกรรมที่ได้รับรางวัล Platinum Award  ซึ่งได้รับถ้วยรางวัลพระราชทานจาก  สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เป็นการสร้างความภาคภูมิใจ และจะเป็นขวัญกำลังใจให้กับนักวิจัยไทยในการสร้างสรรค์ผลงานการประดิษฐ์คิดค้นในการพัฒนาประเทศต่อไป

ไม่มีความคิดเห็น