ยกระดับทักษะพื้นฐานของทุนมนุษย์แห่งยุคดิจิทัล’ กสศ. เปิดเวทีนโยบายพัฒนาเยาวชนและประชากรวัยแรงงานให้มีรายได้สูงกว่าค่าแรงขั้นต่ำ
เมื่อวันที่ 29 พฤษภาคม 2566 กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ร่วมกับ ธนาคารโลก มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และ สำนักงานสถิติแห่งชาติ จัดเวทีเสวนาวิชาการนานาชาติ ‘ทักษะพื้นฐานของทุนมนุษย์แห่งโลกยุคใหม่: การพัฒนาพื้นฐานทักษะและบทบาทในระดับจังหวัด’ เพื่อร่วมกันหาแนวทางยกระดับทักษะพื้นฐานของทุนมนุษย์ในประเทศไทย และออกแบบนโยบายสร้างความเสมอภาคทางการศึกษาให้สอดรับกับการเปลี่ยนแปลงของตลาดแรงงานในยุคดิจิทัล เพิ่มขีดความสามารถด้านการแข่งขันให้ประเทศพ้นจากกับดักรายได้ปานกลาง
วิทยากรร่วมเสวนาในครั้งนี้ประกอบไปด้วย นายพัฒนะพงษ์ สุขมะดัน ผู้ช่วยผู้จัดการกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) นพ.สุภกร บัวสาย ที่ปรึกษาเครือข่ายองค์กรนานาชาติเพื่อการสร้างความเสมอภาคทางการศึกษา และอดีตผู้จัดการ กสศ. นางสาวธันว์ธิดา วงศ์ประสงค์ ผู้อำนวยการสำนักพัฒนานวัตกรรมเพื่อสร้างโอกาสการเรียนรู้ กสศ. ร่วมด้วย คุณโคจิ มิยาโมโตะ (Mr. Koji Miyamoto) นักเศรษฐศาสตร์อาวุโส (Senior Economist) ด้าน Global Practice จากธนาคารโลก (World Bank) นายเศรษฐ์ อัลยุฟรี นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดปัตตานี ผศ.ดร.วิยดา เหล่มตระกูล คณบดีคณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏลำปาง นายสมศักดิ์ พะเนียงทอง คณะกรรมการขับเคลื่อนพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาจังหวัดระยอง และ นายเจริญลักษณ์ เพ็ชรประดับ เลขาธิการมูลนิธิชุมชนขอนแก่นทศวรรษหน้าจังหวัดขอนแก่น
พัฒนาทักษะพื้นฐานของทุนมนุษย์ไทยให้ตรงจุด เพิ่มโอกาสก้าวพ้นประเทศรายได้ปานกลาง นางสาวธันว์ธิดา วงศ์ประสงค์ ผู้อำนวยการสำนักพัฒนานวัตกรรมเพื่อสร้างโอกาสการเรียนรู้ กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา กล่าวว่า เวทีพัฒนานโยบายครั้งนี้ เป็นความร่วมมือทางวิชาการในการพัฒนาทุนมนุษย์ไทยให้พร้อมรับมือกับการแข่งขันในศตวรรษที่ 21 ผ่าน ‘การวิจัยสำรวจทักษะและความพร้อมกลุ่มประชากรวัยแรงงานในประเทศไทย (Adult Skills Assessment in Thailand)’ ที่ธนาคารโลกร่วมกับ กสศ. มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และ สำนักงานสถิติแห่งชาติ วิเคราะห์ผลสำรวจระดับทักษะพื้นฐานของประชากรอายุ 15-64 ปี ซึ่งเป็นการสำรวจในวงกว้างเป็นครั้งแรกของประเทศไทย
นางสาวธันว์ธิดา กล่าวว่า ประเทศไทยกำลังเผชิญปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาและเศรษฐกิจ โดยไทยมีกลุ่ม Not in Education, Employment, or Training (NEET) หรือเป็นที่รู้จักกลุ่มเยาวชนรุ่นใหม่ที่ไม่ได้อยู่ในการทำงาน การศึกษา หรือการฝึกอบรม ในประเทศไทยที่ถูกจัดทำโดยวิทยาลัยประชากรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และองค์การยูนิเซฟ เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2566 ที่ผ่านมา ค้นพบว่า จำนวน NEET ในประเทศไทยอยู่ที่ประมาณ 1.28 ล้านคน โดยร้อยละ 68.2 ไม่พร้อมที่จะทำงาน และไม่มีความประสงค์ที่จะพัฒนาทักษะเพิ่ม ส่วนใหญ่เป็นเยาวชนที่เพียงจบการศึกษาภาคบังคับ เนื่องจากปัญหา NEET เป็นปัญหาที่ควบคู่กับปัญหานักเรียนที่หลุดจากระบบการศึกษา และปัญหาการว่างงานของเยาวชน หากไม่เร่งพาเยาวชนกลุ่มนี้กลับเข้าตลาดแรงงานจะส่งผลต่อการดำรงชีวิตของตัวเยาวชน และการพัฒนาเศรษฐกิจในระดับพื้นที่ และระดับประเทศ
นางสาวธันว์ธิดา เน้นย้ำว่า การพัฒนาทักษะพื้นฐานของทุนมนุษย์ (Foundational Skills) จะช่วยให้ไทยเป็นประเทศที่มีรายได้สูงขึ้น และสามารถลดความเหลื่อมล้ำในมิติต่าง ๆ ซึ่งมีความท้าทายเนื่องจากปัจจุบันพบว่ามีกลุ่มแรงงานนอกระบบสูงถึง 20.2 ล้านคน โดยร้อยละ 67 มีการศึกษาต่ำกว่าชั้นมัธยมต้น นอกจากนี้ยังพบว่ามีวัยแรงงานซึ่งเป็นกลุ่มเยาวชนรุ่นใหม่ประมาณ 1.4 ล้านคนกำลังว่างงาน และมีจำนวนเพิ่มขึ้นทุกปีประมาณปีละร้อยละ 1 แรงงานกลุ่มนี้ถือเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจทั้งในระดับพื้นที่และระดับประเทศ
“การลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาจำเป็นต้องมองกว้างกว่าในรั้วโรงเรียน หากประเทศไทยต้องการหลุดออกจากกับดับรายได้ปานกลาง เยาวชนและแรงงานที่อยู่ในตลาดแรงงานจำเป็นต้องได้รับการพัฒนาทักษะพื้นฐานของทุนมนุษย์ โดยเป็นงานที่มีความซับซ้อนและจำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือจากหน่วยงานต่าง ๆ มาช่วยกันขับเคลื่อนแนวทางในการแก้ไขทั้งด้านการศึกษา เศรษฐกิจ และสังคม จังหวัดถือเป็นพื้นที่และกลไกการทำงานที่สำคัญ โดยจำนวนอย่างน้อย 12 จังหวัดได้ริเริ่มการทำงานตามแนวคิดจังหวัดจัดการศึกษาเชิงพื้นที่ ที่จะมีการวิเคราะห์สถานการณ์ปัญหาของเด็ก เยาวชนและประชากรวัยแรงงาน การจัดทำฐานข้อมูล การค้นหาและพัฒนานวัตกรรมมที่ตอบโจทย์บริบทพื้นที่ ผ่านความร่วมมือทางวิชาการและการขับเคลื่อน โดยที่ผ่านมา กสศ. ธนาคารโลก มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ สำนักงานสถิติแห่งชาติ และจังหวัดต่าง ๆ ได้ร่วมมือกันเพื่อหาแนวทางในการจัดการให้สอดคล้องกับปัญหาที่กำลังประสบอยู่ในแต่ละพื้นที่และนำมาเป็นแนวทางในการขับเคลื่อนเชิงโครงสร้างต่อไป” คุณธันว์ธิดา กล่าว
การศึกษาที่มีทางเลือกและตอบโจทย์ชีวิต เครื่องมือสำคัญในการพัฒนาทักษะพื้นฐานของทุนมนุษย์
คุณโคจิ มิยาโมโตะ นักเศรษฐศาสตร์อาวุโสด้าน Global Practice จากธนาคารโลก กล่าวว่า ทักษะดิจิทัล เป็น 1 ในทักษะพื้นฐานที่สำคัญของการทำงานในศตวรรษที่ 21 จากการสำรวจโดย Amazon พบว่าร้อยละ 50 ของแรงงานไทยยังขาดความสามารถด้านนี้ จึงจำเป็นจะต้องถูกพัฒนาอย่างต่อเนื่องเพื่อนำไปต่อยอดในการทำงานและประยุกต์ใช้กับชีวิตประจำวัน นอกจากนี้ต้นทุนมนุษย์ที่สำคัญ ซึ่งเป็นเรื่องจำเป็นอย่างยิ่งอีกส่วนหนึ่งคือจะต้องพัฒนาทักษะด้านสังคม อารมณ์ ทักษะในการสื่อสารและปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่น ทักษะในการคิดวิเคราะห์และทักษะในการแก้ปัญหา ทักษะด้านความคิดสร้างสรรค์ ซึ่งจะเอามาใช้ในการทำงานและการคิดแก้ปัญหาได้อย่างมีประสิทธิภาพสูง
“ทักษะพื้นฐานของทุนมนุษย์ถือเป็นปัจจัยสำคัญในการช่วยเพิ่มผลผลิตในระบบอุตสาหกรรมและมีบทบาทอย่างยิ่งในการพัฒนานวัตกรรมใหม่ ๆ โดยที่ผ่านมามีผลสำรวจที่ได้ระบุไว้อย่างชัดเจนว่าการศึกษาและทักษะด้านต่าง ๆ ที่เพิ่มขึ้น มีส่วนทำให้รายได้ของประชากรสูงขึ้นตามไปด้วย การพัฒนาทักษะพื้นฐานของทุนมนุษย์จำเป็นที่จะต้องเริ่มในการศึกษาทุกระดับชั้นตั้งแต่ชั้นอนุบาลไปจนถึงระดับมหาวิทยาลัย รวมถึงสร้างกลไกการศึกษาตลอดชีวิต สร้างบรรยากาศให้มีการถ่ายโอนการเรียนรู้และมีปฏิสัมพันธ์ร่วมกัน เช่น นำผู้ที่มีประสบการณ์ที่โดดเด่นหรือมีทักษะในเรื่องนั้น ๆ มาพูดคุยแนะนำหรือฝึกอบรมเสริมแรงบวกให้ทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ เกิดแรงจูงใจในการทำงานและการเรียนรู้ด้านต่าง ๆ ในงานที่ถนัดเพิ่มขึ้น”
คุณโคจิ กล่าวอีกว่า การพัฒนาทักษะพื้นฐานของทุนมนุษย์ สามารถเกิดขึ้นได้จากแนวทางต่าง ๆ โดยเฉพาะการจัดการศึกษาเชิงพื้นที่ ซึ่งเปิดโอกาสให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียต่างในพื้นที่ต่าง ๆ และชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมกับรัฐในการจัดการศึกษาเพื่อมุ่งแก้ปัญหาโดยใช้โจทย์จากพื้นที่เป็นฐาน ใช้ทรัพยากรที่มีอยู่ในพื้นที่ให้มีประสิทธิภาพ สอดคล้องตามบริบทความต้องการของพื้นที่ในการสร้างผลสัมฤทธิ์ให้กับสถานศึกษาขั้นพื้นฐานได้อย่างมีประสิทธิผลเพิ่มมากขึ้น รวมถึงตอบโจทย์ความต้องการแรงงานในแต่ละท้องถิ่น
“การจัดการในส่วนนี้ไม่จำเป็นที่จะต้องอยู่ในหลักสูตรการศึกษาในห้องเรียนเท่านั้น หลายประเทศพบว่าการเรียนนอกห้องเรียนผ่านกิจกรรมต่าง ๆ ก็มีส่วนในการพัฒนาทักษะด้านนี้เช่นกัน ไม่เพียงแต่ภาครัฐเท่านั้นที่สามารถพัฒนาทักษะด้านนี้ ภาคเอกชนหรือผู้ประกอบการ ก็มีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งในการพัฒนาทักษะแรงงานให้ตรงกับความต้องการของตลาดที่เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลาได้ สิ่งที่ต้องพัฒนาขึ้นอย่างต่อเนื่องก็คือการกำหนดมาตรฐานการเรียนรู้ให้เชื่อมโยงกัน ให้สามารถทำงานอย่างต่อเนื่องสอดคล้องกับสถานการณ์การเรียนรู้ที่เปลี่ยนแปลงตั้งแต่วัยเด็กจนถึงวัยผู้ใหญ่ ขณะเดียวกันการพัฒนาครูผู้สอนก็ถือเป็นกลไกสำคัญอย่างยิ่งในการถ่ายทอดแนวทางการพัฒนาทักษะพื้นฐานของทุนมนุษย์ โดยเฉพาะบทบาทในการพัฒนาทักษะด้านสังคมและอารมณ์ และเป็นเรื่องจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องหาเครื่องมือช่วยครูในด้านนี้”
นพ.สุภกร บัวสาย ที่ปรึกษาเครือข่ายองค์กรนานาชาติเพื่อการสร้างความเสมอภาคทางการศึกษา และอดีตผู้จัดการ กสศ. กล่าวถึงโจทย์การทำงานที่สอดคล้องกับข้อเสนอแนะของนักเศรษฐศาสตร์อาวุโสจากธนาคารโลก คือการพัฒนาเยาวชนและประชากรวัยแรงงาน เป็นโจทย์การศึกษาที่ใหญ่กว่าในระบบโรงเรียน โดยต้องหาวิธีช่วยให้คนที่ทำงานอยู่มีโอกาสเรียนรู้โดยไม่ต้องกลับเข้าไปในโรงเรียนอย่างเดียว
นพ.สุภกร กล่าวว่า หลายจังหวัดได้พยายามสร้างระบบนิเวศการของการเรียนรู้ไว้รองรับแนวคิดและรูปแบบการเรียนรู้ที่จะสร้างทักษะใหม่ ๆ ด้วยตัวเอง ซึ่งจะเรียนรู้ไปเรื่อย ๆ ไม่ว่าจะเป็นในช่วงวัยไหน เป็นการศึกษาเรียนรู้ที่ไม่ได้จบแค่ในโรงเรียนหรือมหาวิทยาลัย ไม่ว่าคุณจะเป็นวัยผู้ใหญ่หรือวัยชราก็ยังสามารถเรียนรู้ได้ตลอดชีวิตเพื่อให้บรรลุเป้าหมายการทำงานในแต่ละช่วงเวลาของชีวิต
“สิงคโปร์มีโปรแกรม SkillsFuture ที่ตอบโจทย์การพัฒนาทุนมนุษย์คนกลุ่มต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นโปรแกรมสำหรับนักเรียนหรือพนักงานที่เพิ่งเริ่มต้นทำงาน พนักงานระดับกลาง นายจ้างผู้ให้บริการฝึกอบรมและโปรแกรมการเรียนรู้ตลอดชีวิต โปรแกรมสำหรับนักเรียนก็จะให้คำแนะนำการตัดสินใจเลือกการศึกษาและเส้นทางอาชีพที่เหมาะสมกับการวางแผนอนาคต ช่วยให้เกิดการค้นพบสิ่งที่เหมาะสมกับตัวเอง โดยสะท้อนจากจุดแข็งและความสนใจในแต่ละช่วงชีวิตช่วยให้มีโอกาสทำงานที่เสริมต่อทักษะและความสามารถสำหรับพนักงานมีหลักสูตรทักษะใหม่ ๆ ทักษะแห่งอนาคต รวมถึงมีโปรแกรมสำหรับวัยก่อนเกษียณหรือคนที่มีอายุ 50 ปีขึ้นไปสำหรับเตรียมความพร้อมหลังจากเกษียณจากงานเดิม การพัฒนาเรื่องนี้โดยเริ่มต้นจากจังหวัดซึ่งทราบมิติของปัญหาและจุดอ่อนจุดแข็งของพื้นที่ จึงน่าจะเป็นการเริ่มต้นที่เหมาะสม”
การพัฒนาพื้นฐานทักษะด้วยบทบาทในระดับจังหวัดของประเทศไทย
นายพัฒนะพงษ์ สุขมะดัน ผู้ช่วยผู้จัดการกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา ระบุว่า ความร่วมมือทางวิชาการในช่วง 6 เดือนที่ผ่านมาของ กสศ. กับธนาคารโลก มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และสำนักงานสถิติแห่งชาติ จะถูกนำไปขยายผลสู่สาธารณะและความร่วมมือกับภาคส่วนต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง โดยจะสร้างการมีส่วนร่วมพัฒนาทักษะที่สำคัญผ่านกลไกที่มีอยู่ เช่น นักเรียนทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูง และกลไกการจัดการศึกษาเชิงพื้นที่เพื่อลดความเหลื่อมล้ำ ขยายไปสู่วัยแรงงานกลุ่มต่าง ๆ เพื่อให้มีเยาวชนและประชากรวัยแรงงานที่เท่าทันโลกยุคใหม่ โดยมีผู้เกี่ยวข้องที่สำคัญส่วนหนึ่งมาร่วมเวทีในครั้งนี้
นายพัฒนะพงษ์ กล่าวเพิ่มเติมถึงการดำเนินการโครงการระยะถัดไป โดยธนาคารจะนำเครื่องมือ กับชุดคำถามที่ได้พัฒนากับนักวิชาการ มาสำรวจในจังหวัดที่เข้าร่วม โครงการการจัดการศึกษาเชิงพื้นที่เพื่อลดความเหลื่อมล้ำ ของกสศ. เพื่อให้ข้อมูลเชิงลึกที่ระดับจังหวัด นอกจากนี้ทางธนาคารจะดำเนินกิจกรรมพัฒนาทักษะสังคมอารมณ์ ให้แก่นักศึกษาในสถานศึกษาอาชีวะ ที่เข้าร่วมโครงการทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูง ซึ่งผมหวังว่ากิจกรรมในโครงการระยะถัดไปนั้น จะเป็นการทำงานร่วมกับภาคท้องถิ่น และสถานศึกษาเพื่อให้สามารถใช้แนวทางในการพัฒนาแรงงานของประเทศโดยเฉพาะกับกลุ่มแรงงานที่ด้อยโอกาสที่ต้องเร่งช่วยเหลือ
นายเศรษฐ์ อัลยุฟรี นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดปัตตานี กล่าวว่าจังหวัดปัตตานีได้เดินหน้าส่งเสริมการศึกษาให้สอดคล้องกับตำแหน่งงานที่มีอยู่ในจังหวัด โดยค้นหาตัวตนของเด็กว่ามีความถนัดในด้านใด ค้นหาต้นทุนของเด็ก ทักษะการทำงานของเด็กโดยทำงานร่วมกับผู้ปกครองให้มีช่องทางส่งไม้ต่อในทุกช่วงชั้นการศึกษา มีแนวทางในการพัฒนาทักษะผ่านกลไกที่มี เช่น อาชีวศึกษา มีช่องทางในการช่วยยกระดับอาชีพผ่านการทำงานของ อบจ. เพื่อลดตัวเลขเด็กออกจากการศึกษากลางคัน
ผศ.ดร.วิยดา เหล่มตระกูล คณบดีคณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏลำปาง กล่าวว่าการพัฒนาทักษะพื้นฐานของทุนมนุษย์เป็นงานที่ต้องวางแผนอย่างรอบคอบ ให้ครอบคลุมการแก้ไขปัญหาตั้งแต่ประถมวัยจนถึงวัยทำงาน การจัดการศึกษาสำหรับศตวรรษที่ 21 เป็นช่วงเวลาแห่งการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ระบบการศึกษาจำเป็นต้องปรับตัว ปรับปรุงอย่างต่อเนื่อง เพื่อตอบสนองความต้องการของเยาวชน สังคมและตลาดแรงงานทั้งในปัจจุบันและอนาคต โดยงานนี้ได้ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่องเป็นปีที่ 5 จนเกิดกลไกระดับจังหวัด ที่สามารถระดมเครือข่ายการพัฒนาบุคลากรจากหน่วยงานต่าง ๆ โดยเฉพาะครูในพื้นที่ร่วมกัน และสามารถส่งต่อการจัดการเรียนรู้ที่มีคุณภาพและเหมาะสมกับบริบทโรงเรียน สามารถสร้างแนวโน้มการศึกษาในระบบที่ดีขึ้น สร้างแนวทางในการปรับมาตรฐานการเรียนรู้ในทุกระดับให้สอดคล้องกับแนวทางการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ จนเกิดโมเดลการพัฒนาชุมชนที่ประสบความสำเร็จในการสร้างระบบนิเวศชีวิตที่เหมาะกับคนทุกช่วงวัยโดยไม่เพิ่มภาระงานให้กับหน่วยงานหลัก สามารถช่วยประสานและแบ่งเบาภาระการทำงานผ่านการเชื่อมโยงฐานข้อมูลให้สอดคล้องกับปัญหาที่เกิดขึ้นจริงในพื้นที่
นายสมศักดิ์ พะเนียงทอง คณะกรรมการขับเคลื่อนพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาจังหวัดระยอง กล่าวว่า จังหวัดได้มีการส่งเสริมการจัดการศึกษาสำหรับคนระยองทุกช่วงวัยให้ตอบโจทย์บริบทของจังหวัด ซึ่งอยู่กับภาคการเกษตร การท่องเที่ยว และอุตสาหกรรม ด้วยแนวคิดเท่าเทียมทั่วถึงเท่าทันและสมดุล สร้างระบบบริหารจัดการศึกษาทุกระดับ เพื่อผลิตและพัฒนากำลังคนในจังหวัดทุกช่วงวัย สร้างเครือข่ายความร่วมมือในการจัดการศึกษาระหว่างสถานศึกษา สถานประกอบการ องค์กรภาครัฐและเอกชน พัฒนาครูและบุคลากรทางการศึกษาให้เป็นแหล่งเรียนรู้และศูนย์สร้างสรรค์ปัญญาเพื่อการเรียนรู้ตลอดชีวิตและการสร้างศักยภาพของคนในจังหวัดโดยเฉพาะวัยทำงาน มีนโยบายพัฒนาเด็กทุกช่วงวัย แต่ยังขาดส่วนกลางประสานการทำงานให้สอดคล้องกัน
นายเจริญลักษณ์ เพ็ชรประดับ เลขาธิการมูลนิธิชุมชนขอนแก่นทศวรรษหน้า กล่าวว่าจังหวัดขอนแก่นได้พยายามออกแบบการพัฒนาทุนมนุษย์ โดยร่วมกับภาคีเครือข่ายภาคประชาชน ภาคประชาสังคม ภาครัฐและเอกชนในจังหวัด ผ่านกิจกรรมและเครื่องมือต่าง ๆ เช่น มีการออกแบบแพลตฟอร์มที่มีศักยภาพในการช่วยกระตุ้นการเรียนรู้ ยกระดับการศึกษาและหนุนเสริมการทำงานของภาครัฐ จัดกิจกรรมวันแห่งการให้ขอนแก่นเพื่อสร้างสังคมแห่งการแบ่งปัน ช่วยเหลือกลุ่มเป้าหมายคนเปราะบาง จนสามารถช่วยลดจำนวนเด็กที่หลุดออกจากระบบการศึกษาได้บ้างแล้ว
เวทีเสวนาวิชาการนานาชาติเพื่อพัฒนานโยบายส่งเสริมเยาวชนและประชากรวัยแรงงานสู่ความพร้อมรับมือตลาดแรงงานยุคใหม่ครั้งนี้ จัดขึ้นเป็นครั้งที่ 3 โดยภายในปลายปี 2566 จะมีการเปิดเผยผลสำรวจจากโครงการ ‘การวิจัยสำรวจทักษะและความพร้อมกลุ่มประชากรวัยแรงงานในประเทศไทย’ (Adult Skills Assessment in Thailand) อย่างเป็นทางการ เพื่อสร้างความเข้าใจในยุทธศาสตร์และความท้าท้ายใหม่ในการพัฒนาเยาวชนและประชากรวัยแรงงาน และให้ความสำคัญกับบทบาทของทักษะการเรียนรู้ที่มีความจำเป็น เพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและสังคม พร้อมรับข้อเสนอแนะ ความร่วมมือเชิงนโยบายในการพัฒนาทักษะ และการเรียนรู้ของเยาวชนและประชากรวัยแรงงานต่อไป
อ้างอิง วิดีโอเวทีเสวนาวิชาการนานาชาติ ‘ทักษะพื้นฐานของทุนมนุษย์แห่งโลกยุคใหม่: การพัฒนาพื้นฐานทักษะและบทบาทในระดับจังหวัด’ ที่นี่
Post a Comment