วช. แจงกรอบวิจัยและนวัตกรรม เจาะกลุ่มสัตว์เศรษฐกิจ เลี้ยงง่าย ลงทุนน้อย ตลาดต้องการ
วันที่ 23 มิถุนายน 2566 สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม จัดการประชุมชี้แจงกรอบการวิจัยและนวัตกรรม ประจำปีงบประมาณ 2567 (NRCT Open House 2023) และแถลงผลสำเร็จจากการวิจัยและนวัตกรรม ด้านสัตว์เศรษฐกิจ โดยมี ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ เป็นประธานเปิดการประชุมฯ เพื่อประชาสัมพันธ์เกี่ยวกับการรับข้อเสนอการวิจัยและนวัตกรรม และกรอบการวิจัยและนวัตกรรมที่ วช. ให้การสนับสนุนทุนการวิจัยและนวัตกรรม ประจำปีงบประมาณ 2567 ซึ่งกิจกรรมดังกล่าว จัดขึ้นระหว่างวันที่ 19 - 27 มิถุนายน 2566
ในรูปแบบ onsite ณ ห้องจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ณ อาคาร วช.1 และรูปแบบออนไลน์ผ่าน (VDO Conference) ด้วยระบบ Zoom การถ่ายทอดสด (Live Streaming) ผ่านช่องทางออนไลน์ Facebook ของสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ
ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ กล่าวว่า วช. ภายใต้กระทรวง อว เป็นหน่วยงานหลักในการบริหารทุนวิจัยและนวัตกรรมของประเทศ โดยมุ่งเน้นผลสำเร็จจากการวิจัยที่สามารถนำไปใช้ประโยชน์ในมิติต่าง ๆ ทั้งมิติด้านวิชาการ ด้านเศรษฐกิจ ด้านสังคมและชุมชน และด้านนโยบาย เพื่อใช้เป็นกลไกในการพัฒนาและแก้ปัญหาเร่งด่วนสำคัญของประเทศ เพื่อให้บรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน การจัดงานชี้แจงกรอบการวิจัยและนวัตกรรม ปี 2567 และการแถลงผลสำเร็จจากการวิจัยและนวัตกรรม NRCT Open House ระหว่างวันที่ 19 – 27 มิถุนายน 2566
ซึ่งในวันนี้เป็นวันที่ห้า จะเป็นด้านสัตว์เศรษฐกิจ การสร้างการรับรู้ รวมถึงการแนะนำการเขียนข้อเสนอทางการวิจัยในประเด็นด้านสัตว์เศรษฐกิจ เนื่องจากสถานการณ์ปัจจุบันการส่งออกสินค้าสัตว์เศรษฐกิจ ถือได้ว่าเป็นส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ จากการระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา หรือ โควิด 19 ส่งผลกระทบทำให้หลายธุรกิจปิดตัวลง เกิดการว่างงานและเดินทางกลับถิ่นฐานจากสถานการณ์ วช. จึงให้ความสำคัญในการสนับสนุนทุนวิจัยและนวัตกรรมด้านสัตว์เศรษฐกิจ โดยมุ่งเน้นสัตว์เศรษฐกิจอาชีพทางเลือกหรืออาชีพเสริม โดยคัดเลือกสัตว์เศรษฐกิจใหม่ที่มีขีดความสามารถในการแข่งขันสูง ต้นทุนต่ำ ในการส่งเสริมเป็นอาชีพทางเลือกหรืออาชีพเสริมให้เกษตรกร ได้แก่ ไก่พื้นเมืองและไก่ลูกผสมพื้นเมือง เป็นสัตว์ที่เกษตรเลี้ยงกว่า 2.5 ล้านครัวเรือน คิดเป็น 30% ของครัวเรือนเกษตรกร มีฟาร์มเลี้ยง 6,785 ฟาร์ม มูลค่าตลาดไม่ต่ำกว่าปีละ 35,000 ล้านบาท โดยความต้องการบริโภคของโลกเพิ่มขึ้น 1.86% ต่อปี จิ้งหรีด เป็นแหล่งโปรตีนสูงทางเลือกชนิดใหม่ของโลก การเติบโตของอุตสาหกรรม 20% ต่อปี ไทยมีผู้เลี้ยง 20,000 ฟาร์มหรือรายกำลังการผลิต 7,500 ตันต่อปี คิดเป็นมูลค่า 1,000 ล้านบาทต่อปี สัตว์น้ำ และพรรณไม้น้ำสวยงาม เป็นสัตว์ที่มีมูลค่าและสร้างรายได้สูง มีตลาดกว่า 85 ประเทศทั่วโลก มูลค่าการส่งออกไม่ต่ำกว่า 700 ล้านบาทต่อปี มีผู้เพาะเลี้ยงในไทย ประมาณ 350,000 ราย และฟาร์มที่ขึ้นทะเบียน 2,328 ฟาร์ม แพะ ความต้องการอาหารฮาลาลเพิ่มมากขึ้นในทุก ๆ ปี และการผลิตไม่พอต่อความต้องการ ประเทศไทยส่งออกแพะคิดเป็นมูลค่า 56.75 ล้านบาทต่อปี มีเกษตรกรผู้เลี้ยงแพะ 92,383 ราย จากการสนับสนุนทุนวิจัยของ วช. ทำให้มีแพะเพิ่มขึ้นจาก 0.83 ล้านตัว (ปี 2562) เป็น 1.4 ล้านตัว (ปี 2565) ปูม้า เนื่องจากปริมาณปูม้าลดลงจากเดิมอย่างมาก ครม. มีมติให้ วช. เป็นเจ้าภาพในการขยายผลธนาคารปูม้าเพื่อ “คืนปูม้าสู่ทะเลไทย” ทำให้เกิดธนาคารปูม้า 557 แห่ง ใน 20 จังหวัด ในปี 2564 มีผลจับปูม้า เพิ่มขึ้น 4,340 ตัน คิดเป็น 1,302 ล้านบาท และขยายผลต่อเนื่องสร้างอาชีพเสริมให้ชุมชนในพื้นที่ เกิดธุรกิจ SME จากการขับเคลื่อนตามแนวทาง BCG นอกจากนี้ ยังมีสัตว์เศรษฐกิจทางเลือกอื่น ๆ ที่น่าสนใจ ที่เกษตรกรสามารถเลี้ยงเป็นอาชีพหลัก หรืออาชีพเสริม เช่น ปูนา ปลาไหล กบ และแมงดานา เป็นต้น
ในปี พ.ศ. 2567 การวิจัยและนวัตกรรมด้านสัตว์เศรษฐกิจ มีความสอดคล้องกับแผนงาน กองทุนส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (ววน.) ใน 2 แผนงาน ดังนี้ แผนงานที่ 1 คือแผนเพิ่มความเข้มแข็งของเศรษฐกิจฐานรากเพื่อให้มีศักยภาพในการแข่งขัน สามารถพึ่งพาตนเองได้และกระจายรายได้สู่ชุมชนท้องถิ่น และแผนพัฒนาเทคโนโลยี นวัตกรรม ต้นแบบ และระบบบริหารจัดการแบบบูรณาการเพื่อลดความเสี่ยงและผลกระทบจากภัยพิบัติฯ
สำหรับในปี 2567 วช. เปิดรับข้อเสนอโครงการ 2 แผนงาน คือ 1) การพัฒนาศักยภาพการผลิตสัตว์เศรษฐกิจเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรม และ 2) การลดความเสี่ยงและผลกระทบภัยพิบัติทางธรรมชาติและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศต่อสัตว์เศรษฐกิจ ซึ่งในแต่ละแผนงานมีกรอบการวิจัย ดังนี้ 1) แผนงานการพัฒนาศักยภาพการผลิตสัตว์เศรษฐกิจเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรม มีเป้าหมายในการสร้างความเข้มแข็งและยกระดับมูลค่าเศรษฐกิจของเศรษฐกิจฐานราก มุ่งเน้นการพัฒนาธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) และส่งเสริมการใช้องค์ความรู้ ผลงานวิจัยเทคโนโลยีและนวัตกรรม เพื่อพัฒนาเศรษฐกิจระดับชุมชน โดยเปิดรับข้อเสนอโครงการใน 3 ประเด็น ได้แก่ การวิจัยและพัฒนาการผลิตสัตว์เศรษฐกิจของกลุ่มวิสาหกิจชุมชนฯ การขยายผลการวิจัยและนวัตกรรมสู่การใช้ประโยชน์และการวิจัย
เชิงนโยบายเพื่อการกำหนดแนวทาง มาตรการ นโยบายสนับสนุนการผลิตสัตว์เศรษฐกิจฯ และ 2) แผนงานการลดความเสี่ยงและผลกระทบภัยพิบัติทางธรรมชาติและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศต่อสัตว์เศรษฐกิจ ซึ่งมีเป้าหมายในการลดความเสี่ยงและผลกระทบ รวมทั้งการฟื้นฟูและช่วยเหลือในพื้นที่ที่เกิดภัยพิบัติด้วยการใช้ผลงานวิจัยและนวัตกรรม และลดความเสี่ยงและผลกระทบที่เกิดจากกระบวนการผลิตสัตว์เศรษฐกิจ การทำการประมง โดยเปิดรับข้อเสนอโครงการใน 4 ประเด็นมุ่งเน้น ได้แก่
1) ด้านปศุสัตว์ 2) ด้านประมง 3) ด้านแมลงเศรษฐกิจ และ 4) การจัดการความรู้และขยายผลการวิจัย ซึ่งผลลัพธ์ที่ได้จากการขับเคลื่อนทั้ง 2 กรอบ คือ การสร้างความเข้มแข็งและยกระดับมูลค่าเศรษฐกิจฐานราก ส่งเสริมการใช้องค์ความรู้ผลงานวิจัย เทคโนโลยีและนวัตกรรม สร้างสภาพแวดล้อมและกลไกที่สนับสนุนการพัฒนาเศรษฐกิจระดับชุมชน รวมทั้งในปศุสัตว์ การทำประมง รวมถึงเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และยกระดับคุณภาพชีวิตเกษตรกรให้ดีขึ้น
ทั้งนี้กิจกรรมภายในงาน มีการเสวนา เรื่อง “แนวทางการเขียนและพิจารณาข้อเสนอการวิจัยและนวัตกรรม ด้านสัตว์เศรษฐกิจ ประจำปีงบประมาณ 2567” ผู้ร่วมเสวนาประกอบด้วย ดร.วรชาติ ดุลยเสถียร ดร.วารินทร์ ธนาสมหวัง ดร.แสนศักดิ์ นาคะวิสุทธิ์ น.สพ.นพพร โต๊ะมี ร่วมเสวนาฯ นอกจากนี้ยังมีนำเสนอวีดิทัศน์แนะนำการใช้งานระบบ NRIIS โดย นายเอนก บำรุงกิจ รองผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ และ นางสาวศยามล ไชยปุรณะ ผู้อำนวยการกลุ่มงานวิเคราะห์ประมวลผล และบูรณาการข้อมูลสารสนเทศ และการแถลงผลสำเร็จจากผลงานวิจัยและนวัตกรรมด้านสัตว์เศรษฐกิจ โดย นายสุชัช ศุภวัฒนาเจริญ ผู้อำนวยการภารกิจการวิจัยและนวัตกรรมของประเทศ ด้านสัตว์เศรษฐกิจ และแลกเปลี่ยนประสบการณ์การเขียนข้อเสนอการวิจัยและนวัตกรรม โดย ผศ. น.สพ. ดร.สุวิทย์ โชตินันท์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ผศ. ดร.เอกชัย ดวงใจ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา น่าน ผศ. ดร.ทศพล มูลมณี มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ผศ.นนทนันท์ พลพันธ์ มหาวิทยาลัยราชภัฏร้อยเอ็ด นายจีระศักดิ์ ชอบแต่ง กรมปศุสัตว์ ร่วมพูดคุยและแลกเปลี่ยนประสบการณ์ในการดำเนินการโครงการและแนวทางในการพัฒนาเส้นทางอาชีพวิจัยและนวัตกรรม โดยกิจกรรม NRCT Open House 2023 ด้านสัตว์เศรษฐกิจ ด้วย
วช. จะเปิดรับตั้งแต่บัดนี้ จนถึงวันที่ 18 สิงหาคม 2566 โดยนักวิจัยต้องยืนยันการเข้าร่วมทำวิจัยในระบบ NRIIS ภายในวันที่ 18 สิงหาคม 2566 เวลา 18.00 น.ส่วนหน่วยงานต้นสังกัดของนักวิจัย ต้องรับรองข้อเสนอการวิจัยและนวัตกรรม ในระบบ NRIIS ภายในวันที่ 25 สิงหาคม 2566 เวลา 18.00 น. การประกาศผลการพิจารณา วช. จะประกาศผ่านเว็บไซต์ www.nrct.go.th และ https://nriis.go.th
Post a Comment