วช. จัดเสวนาปลุกกระแสคนไทย “ร่วมสร้างสังคมไทยปลอดภัยจากความรุนแรง ด้วยวิจัยและนวัตกรรม”
วันที่ 1 มิถุนายน 2566 สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษาวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม จัดการเสวนาเรื่อง “ร่วมสร้างสังคมไทยปลอดภัยจากความรุนแรง ด้วยวิจัยและนวัตกรรม” เพื่อเป็นเวทีแลกเปลี่ยนความรู้ และเผยแพร่ผลงานวิจัยและนวัตกรรมที่ได้ให้ทุนสนับสนุน ในประเด็นด้านสังคมไทยปลอดภัยจากความรุนแรง และอยู่ร่วมกันอย่างสันติ โดยมี ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ เป็นประธานกล่าวเปิดงานเสวนา ผู้ร่วมเสวนาและประเด็นที่น่าสนใจประกอบด้วยประเด็น “ลดความรุนแรงในสังคมไทย โดยใช้พลังบวก”
โดย รองศาสตราจารย์ นายแพทย์สุริยเดว ทรีปาตี ผู้อำนวยการศูนย์คุณธรรม (องค์การมหาชน) ประเด็น “ความรุนแรงในสังคมไทย : ภัยเงียบที่ควรรู้” โดย รองศาสตราจารย์ ดร.สุมนทิพย์ จิตสว่าง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ประเด็น “นวัตกรรม...รู้ไว้ป้องกันภัยความรุนแรง” โดย รองศาสตราจารย์ ดร.สุณีย์ กัลยะจิตร มหาวิทยาลัยมหิดล และ ประเด็น “สื่อสร้างสรรค์ รังสรรค์สังคมปลอดภัย” โดย รองศาสตราจารย์ ดร.พนิดา จงสุขสมสกุล มหาวิทยาลัยนเรศวร ดำเนินรายการเสวนา โดย รองศาสตราจารย์ ดร.ศุภวัฒนากร วงศ์ธนวสุ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ณ ห้องประชุมจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ ถนนพหลโยธิน กรุงเทพมหานคร และผู้ร่วมรับฟังการเสวนา ผ่านรูปแบบออนไลน์สื่ออิเล็กทรอนิกส์ Zoom Meeting และ Facebook Live
ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ กล่าวว่า วช. ภายใต้กระทรวง อว.เป็นหน่วยงานหลักด้านการวิจัยและนวัตกรรมของประเทศ ที่มีบทบาทสำคัญด้านการขับเคลื่อน และสนับสนุนการดำเนินโครงการวิจัย ที่มีความท้าทายและมีเป้าหมายชัดเจนรวมถึงการส่งเสริมและถ่ายทอดองค์ความรู้ ตลอดจนผลักดันให้เกิดการนำผลงานวิจัยและนวัตกรรมไปสู่การใช้ประโยชน์ในมิติต่าง ๆ ที่ก่อให้เกิดการพัฒนา และสามารถแก้ไขปัญหาสำคัญของประเทศได้อย่างเป็นรูปธรรม ซึ่งสังคมไทยไร้ความรุนแรง ถือเป็นปัญหาทางสังคมที่มีความท้าทายในการแก้ไข เพราะความรุนแรงมีหลายมิติมีความสลับซับซ้อน เช่น ความรุนแรงในครอบครัว ความรุนแรงในโรงเรียน ความรุนแรงทางสื่อ ความรุนแรงบนท้องถนน และยังมีความรุนแรงอีกหลายรูปแบบ ที่เป็นภัยแฝงอยุ่ในสังคมไทย ซึ่งสามารถเกิดขึ้นได้กับประชาชนทุกกลุ่มเพศและทุกวัย ดังนั้นการลดความรุนแรงในสังคมไทยจึงถือเป็นโจทย์ท้าทายที่สำคัญสำหรับการวิจัยและการสร้างสรรค์นวัตกรรมที่จะช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ทางสังคมให้กับคนไทยได้อย่างมั่นคง และสามารถนำไปสู่การลดปัญหาความรุนแรงในสังคมไทยได้อย่างยั่งยืน
รองศาสตราจารย์ นายแพทย์สุริยเดว ทรีปาตี ผู้อำนวยการศูนย์คุณธรรม (องค์การมหาชน) กล่าวว่า การอยู่ร่วมกันอย่างสมานฉันท์ มีความมั่นคงทางเศรษฐกิจสังคมและมีการเสริมพลังเพื่อสร้างความมั่นคงทางสังคมนั้น ครอบครัวเป็นพลังกำลังที่สำคัญ ซึ่งต้องอาศัยนโยบายหรือมาตรการเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงของสังคมไทยเป็นสิ่งขับเคลื่อนเพื่อลดความรุนแรงในสังคมไทย จึงเกิดระบบพี่เลี้ยง ที่ปรึกษา ในชุมชนด้วยจิตวิทยาเชิงบวกจิตวิทยาพลังบวก
โดยนำองค์ความรู้จากการวิจัยเพื่อพัฒนาความรอบรู้ทางสุขภาพจิตต่อผู้ปกครองไปสู่การปฏิบัติพัฒนาระบบพี่เลี้ยงในชุมชนที่มีทั้งกระบวนการพัฒนาคนพัฒนากลไก และพัฒนากิจกรรม เพื่อพัฒนาสู่การเชื่อมโยง และการสร้างการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกันระหว่างภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้อง ทั้งภาครัฐ เอกชนหรือตัวแทนชุมชนเอง ให้เกิดการเรียนรู้และการทำงานอย่างเป็นรูปธรรม พัฒนาศักยภาพครอบครัวในชุมชนให้มีทักษะและสามารถในการสร้างเสริมพลังบวก ปกป้อง คุ้มครองและการให้การช่วยเหลือแก้ไขป้องกันปัญหาความรุนแรงในครอบครัวเกิดกระบวนการสร้างครอบครัวเข้มแข็งในการเสริมสร้างป้องกันคุ้มครองและจัดการความรุนแรงในครอบครัว
ผ่านคณะทำงานพัฒนาครอบครัวอันจะนำไปสู่การลดความรุนแรงในสังคมไทย โดยใช้พลังบวกได้อย่างแท้จริง
ถัดมา รองศาสตราจารย์ ดร.สุมนทิพย์ จิตสว่าง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่าปัญหาความรุนแรงของสังคมไทยความรุนแรงในสถานการณ์โลก พบว่าความรุนแรงต่อตนเอง พ.ศ.2566 : การฆ่าตัวตายอยู่ในอันดับ 73 ความรุนแรงในครอบครัวของสังคมไทยเกิดขึ้นไม่น้อยกว่าวันละ 1 เหตุการณ์ พ.ศ.2559 สถิติความรุนแรงต่อสตรีอยู่ในอันดับ 1 ใน 10 ของโลก พ.ศ.2542 เด็กและเยาวชนกระทำผิด อันดับ 8 ของโลก พ.ศ.2561 เด็กและเยาวชนถูกรังแกในโรงเรียนเป็นอันดับ 2 ของโลกผู้สูงอายุทั่วโลกและประเทศไทยต้องเผชิญกับปัญหาความรุนแรงจากคนใกล้ตัว และความรุนแรงระหว่างกลุ่ม พ.ศ.2565 : สถิติการก่อการร้ายอยู่ในลำดับที่ 22 ของโลก จากสถิติตรงนี้จะเห็นได้ว่าความรุนแรงตรงนี้ส่งผลในมิติทางเศรษฐกิจภัยเงียบที่เราควรตระหนัก
ด้านรองศาสตราจารย์ ดร.สุณีย์ กัลยะจิตร มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า ความรุนแรงที่เกิดขึ้น มักเป็นเหตุสะเทือนขวัญแก่ประชาชน และสถิติต่าง ๆ ไม่ได้ลดลง นำไปสู่การออกแบบวิธีการวิจัยให้ประสบความสำเร็จและตรงตามกรอบการวิจัยเพื่อนำไปสู่การลดความรุนแรงด้วยวิจัยและนวัตกรรม โดยการพัฒนาการสร้างวีดิทัศน์ การสร้างความเข้าใจเพื่อป้องกันปัญหาการข่มขืน กระทำชำเรา และอาชญากรรม วีดิทัศน์ความปลอดภัยจากการข่มขืนจำนวน 4 เรื่อง 1) ครอบครัวอบอุ่น 2) โรงเรียนที่รัก 3) ชุมชนเป็นมิตร และ 4) กฎหมายข่มขืนทุกคนต้องรู้ และวีดิทัศน์กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับอาชญากรรมทางเพศจำนวน 2 เรื่อง 1) แนวปฏิบัติสำหรับผู้กระทำผิดในคดีข่มขึ้น 2) องค์ประกอบความผิดฐานข่มขืนกระทำชำเรา อันจะนำไปสู่การสร้างการป้องกันภัยจากความรุนแรงที่อาจเกิดขึ้นในสังคมไทยให้เป็นสังคมที่น่าอยู่
สำหรับรองศาสตราจารย์ ดร.พนิดา จงสุขสมสกุล มหาวิทยาลัยนเรศวร กล่าวว่า สื่อเป็นผู้ที่มีบทบาทในการชี้นำสังคมมีส่วนสำคัญที่จะช่วยรังสรรค์สิ่งดี ๆ การนำเสนอข้อมูลข่าวสารที่มีความเกี่ยวข้องกับมิติต่าง ๆ ซึ่งส่งผลกระทบต่อสังคมและเศรษฐกิจ พลังของสื่อที่ดีจะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงทางความคิดทัศนคติทางสังคม ซึ่งบริบทของสื่อในการสร้างความรับรู้นั้นมีส่วนสำคัญ สื่อที่ปลอดภัยและสร้างสรรค์จะช่วยยกระดับสังคมไทยให้ปลอดภัยจากความรุนแรงด้วยวิจัยและนวัตกรรม
Post a Comment