อว.นำวิจัยประสานการเรียนรู้ศิลปวัฒนธรรมท้องถิ่น ผ่านดนตรีซิมโฟนีออร์เคสตร้า ณ แหล่งอารยธรรมทางประวัติศาสตร์ เมืองเหนือ “เสียงใหม่ที่วัดพระธาตุลำปางหลวง” ลำปาง

อว.นำวิจัยประสานการเรียนรู้ศิลปวัฒนธรรมท้องถิ่น ผ่านดนตรีซิมโฟนีออร์เคสตร้า ณ แหล่งอารยธรรมทางประวัติศาสตร์ เมืองเหนือ “เสียงใหม่ที่วัดพระธาตุลำปางหลวง” ลำปาง

          เมื่อวันที่ 21 เมษายน 2566 กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม โดยสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) จัดกิจกรรมการถ่ายทอดงานวิจัยประวัติศาสตร์ท้องถิ่น ผ่านการบรรเลงดนตรีสากลเชื่อมโยงกับวัฒนธรรมท้องถิ่น ภายใต้แนวคิด “เสียงใหม่ที่วัดพระธาตุลำปางหลวง” โดยได้รับเกียรติจาก 
ศ.(พิเศษ) ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เป็นประธานในการเปิดงานฯ พร้อมกันนี้  นายชัชวาลย์   ฉายะบุตร ผู้ว่าราชการจังหวัด ลำปาง ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ และคณะผู้บริหารของจังหวัดลำปาง ประกอบด้วย นางสาวตวงรัตน์  โล่สุนทร นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดลำปาง  นายกเทศมนตรีตำบลลำปาง หัวหน้าราชส่วนราชการจังหวัดลำปางและอำเภอเกาะคา ร่วมให้การต้อนรับ และได้รับเกียรติจากศิลปินแห่งชาติ อาจารย์เนาวรัตน์  พงษ์ไพบูลย์ อ่าน บทกวีเกี่ยวกับวัดพระธาตุลำปางหลวง ก่อนการบรรเลงเพลง ณ ลานวัดพระธาตุลำปางหลวง จังหวัดลำปาง
ศ.(พิเศษ) ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ กล่าวว่า วันนี้ดีใจในฐานะที่เป็นรัฐมนตรีกระทรวงอว. ที่ให้ทุนวิจัยสนับสนุนท่านอาจาร์สุกรี เจริญสุข ทำดนตรีพื้นบ้าน ได้ประสานเป็นเพลงดุริยางค์สากล ดุริยางค์คลาสิก ซึ่งชาวตะวันตกก็ถือว่าเป็นดนตรีที่มีคุณค่ามาก และอีกฐานะเป็นคนลำปาง มาวัดพระธาตุลำปางหลวงตั้งแต่เด็กๆ เมื่อก่อนเป็นพื้นทึ่ต่างอำเภอ แต่ปัจจุบันพระธาตุลำปางหลวงก็เหมือนอยู่ติดเขตอำเภอ เพราะความเจริญต่อถึงกัน แล้วได้มาพบพี่น้องชาวลำปาง

 ซึ่งผมก็รู้จักตั้งแต่ในวัยเดียวกันหรือวัยที่สูงกว่า ผมก็ดีใจ การแสดงดนตรีก็มาจัดแสดงที่ จ.ลำปาง เป็นครั้งที่ 2 ก็เลือกสถานที่เป็นสัญลักษณ์ลำปางทั้งสองพื้นที่ ครั้งที่แล้วที่มหาวิทยาลัยสวนดุสิต ที่จังหวัดลำปาง ซึ่งเดิมเป็นที่ตั้งของธนาคารแห่งประเทศไทย สาขาภาคเหนือ ที่ชาวลำปางในอดีตภาคภูมิใจมาก ว่าลำปางเป็นศูนย์กลางการเจริญรุ่งเรืองในภาคเหนือตอนบน และในครั้งนี้มาเล่นที่วัดพระธาตุลำปางหลวง ซึ่งร่วมยุคร่วมสมัยกับวัดพระธาตุหริภุญชัย จ.ลำพูน อายุพันกว่าปี เป็นศูนย์กลางอารยธรรมที่สำคัญอีกส่วนนึ่งของล้านนา โดยงานแสดงดนตรีผลสำเร็จงานวิจัยครั้งนี้ก็น่าจะเป็นครั้งที่สิบกว่าแล้ว นักดนตรีได้สะสมทักษะ ความสามารถแก้ไขปัญหาต่างๆ มาโดยตลอด ซึ่งการแสดงก็ดีขึ้นทุกครั้ง 

“ขอเชิญชวนคนไทยทั้งประเทศร่วมฟังดนตรีในวันนี้ สำหรับคนที่โชคดีที่มารับฟังถึงวัดพระธาตุลำปางหลวง ขอให้ได้รับบุญกุศล ความปรารถนาดีจากดนตรี จากนักร้อง จากกระทรวงอว. ได้ด้วย ถือว่าเป็นการส่งสิ่งที่ดีที่สุดของกระทรวง อว. สู่ท่านที่รับชม ท่านผู้ชมที่มาชมการแสดงสด สำหรับท่านส่วนใหญ่ที่เตรียมดูและรับชมผ่านสถานีโทรทัศน์ ThaiPBS ท่านก็สามารถรับชมรับฟังได้เช่นกัน ซึ่งดนตรีถือเป็นสมบัติที่มีค่า ที่บรรพชนได้มอบไว้ให้แก่เรา เป็นสมบัติของทุกคน ไม่ใช่แค่ของคนภาคเหนือเท่านั้น และจะกลายเป็นพื้นฐานที่สำคัญ ซึ่งผมเชื่อว่าจะทำให้ดนตรีไทยให้เป็นดนตรีโลกไม่ยาก เพราะเรามีของดี”  ดร.เอนก กล่าวทิ้งท้าย

ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ กล่าวว่า วัดพระธาตุลำปางหลวง เป็นวัดที่เก่าแก่ของภาคเหนือและเป็นวัดสำคัญของจังหวัดลำปาง เป็นที่ตั้งของชุมชนเก่าแก่กว่า 1,300 ปี มีการวางรากฐานของบ้านเมือง คูเมือง กำแพงเมือง มีผู้คนและมีเจ้าเมือง มีวัดพระธาตุลำปางหลวงเป็นศูนย์กลางของเมืองลำปาง เป็นศูนย์บัญชาการการปกครองในอดีต เพราะวัดพระธาตุลำปางหลวงเป็นหัวใจของเมือง และเป็นวัดหลวงของเมืองลำปาง  เป็นพื้นที่สำคัญทางประวัติศาสตร์ เป็นการศึกษาเพื่อค้นคว้าเรื่องของเสียงดนตรีที่ยังหลงเหลือร่องรอยทางประวัติศาสตร์ แล้วนำเสียงมาสร้างจินตนาการใหม่ การนำเสียงของวัฒนธรรมเมืองเหนือ เสียงซึง เสียงปี่จุม เสียงไม้ไผ่ และเสียงกลอง เป็นเสียงที่มีอยู่แล้วโดยการเลียนแบบจากเสียงธรรมชาติ  (Acoustic) มาใช้เป็นเสียงดนตรี ซึ่งเป็นบริบทที่สำคัญของชุมชน ที่จะมีการพัฒนาให้เป็นมาตรฐานที่สามารถสื่อสารออกไปสู่สากลได้ นับเป็นวัฒนธรรมที่ทรงคุณค่าและสร้างสรรค์ (Soft Power) ซึ่ง วช. ได้สนับสนุนการวิจัยเพื่อสร้างองค์ความรู้ในงานศาสตร์และศิลป์ ด้วยการทำงานวิจัยที่วัดพระธาตุลำปางหลวง จึงเป็นพื้นที่ทางประวัติศาสตร์ที่สำคัญต่อการใช้กลไกการแสดงดนตรีและการถ่ายทอดผ่านบทเพลง เพื่อก่อให้เกิดความเข้าใจในโบราณคดี ประวัติศาสตร์ ความภูมิใจในศิลปวัฒนธรรมและอัตลักษณ์ พร้อมกับเป็นพื้นที่ที่นักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศจะเข้ามาร่วมชื่นชมอัตลักษณ์ของท้องถิ่น และเป็นSoft power อย่างยั่งยืน

  ด้าน รองศาสตราจารย์ ดร.สุกรี เจริญสุข หัวหน้าโครงการวิจัย มูลนิธิอาจารย์สุกรี เจริญสุข เปิดเผยว่า การแสดงดนตรีเสียงใหม่ที่วัดพระธาตุลำปางหลวง ได้รับเกียรติจากอาจารย์เนาวรัตน์  พงศ์ไพบูลย์ ศิลปินแห่งชาติ ร่วมอ่านบทกวี มีบทเพลงที่เกี่ยวข้องกับจังหวัดลำปางขับร้องโดย กมลพร  หุ่นเจริญ พร้อมศิลปินพื้นบ้านลำปาง เป็นจำนวนมาก เลือกพื้นที่วัดพระธาตุลำปางหลวงเป็นสถานที่จัดงานเพื่อที่จะนำกลิ่น เสียง และวิญญาณของประวัติศาสตร์ที่ยังเหลือร่องรอยอยู่ในเพลงที่มีการปกของเชียงใหม่กระทั่งถึงสมัยเจ้าทิพย์ช้างสามารถขับไล่พม่าออกจากลำปางได้ และขึ้นครองลำปางเมื่อปี พ.ศ. 2279 ต่อมา พ.ศ. 2307 เจ้าแก้วฟ้าโอรสของเจ้าทิพย์ช้างได้ครองนครลำปางเป็นต้นตระกูลของคนในปัจจุบัน ตระกูล ณ ลำปาง ณ เชียงใหม่ ณ ลำพูน วิถีชีวิตผู้คนและดนตรีของชาวลำปางดั้งเดิมเหลืออยู่กับชาวบ้าน ชาวดอย และผู้เฒ่า จากการที่ลำปางดั้งเดิมมีเผ่าพันธุ์ที่หลากหลายจึงทำให้ดนตรีพื้นบ้านน่าสนใจศึกษาโดยวัดพระธาตุลำปางเป็นวัดโบราณที่เป็นศูนย์รวมจิตใจของผู้คนในชุมชนมาอย่างยาวนาน และเป็นคลังความรู้เป็นมรดกล้ำค่ามาก “เสียงใหม่โดยวงไทยซิมโฟนีออเครสตร้าเป็นการย้อนร่องรอยในอดีตมาประดับบริบทที่เหลืออยู่ในปัจจุบัน เล่าวิถีชีวิตในอดีตด้วยเสียงดนตรี เพราะลำปางเป็นพื้นที่ประวัติศาสตร์ที่ยังมีชีวิตอยู่” รศ.ดร.สุกรีฯ กล่าวย้ำ

ในโอกาสนี้การแสดงดนตรีเสียงใหม่ที่วัดพระธาตุลำปางหลวง โดย วงไทยซิมโฟนีออร์เคสตร้า (Thai Symphony Orchestra) พร้อมด้วยนักดนตรีและนักดนตรีพื้นบ้านกว่า 100 คน ในการนำเสนอเพลงต้นฉบับที่มีมาแล้วแต่ดั้งเดิมของเมืองเหนือผ่านการแสดงบทเพลง ลาวคลึง ลาวจ้อย ลาวดวงดอกไม้ ลาวเจริญศรี ลาวเสี่ยงเทียน ลาวครวญ ลาวเดินดง ลาวสวยรวย ลาวคำหอม ลาวกระทบไม้ แห่ดำหัวหรือแห่นำพล เก๊าห้า มอญลำปาง ลาวลำปาง-สร้อยลำปาง  แล้งในอกหรือลาวคลึง มอญเจี๊ยหอย ลาวจ้อยหรือสร้อยแสงแดง  ลาวเจริญศรี ลาวเสี่ยงเทียน ลาวเดินดง ลาวดวงดอกไม้ ลาวสวยรวย ลาวคำหอม ลาวกระทบไม้ ผีมดผีเม็ง ฤาษีหลงถ้ำ ล่องแม่ปิง ปราสาทไหว การแสดงวงปี่จุม สะล้อล้านนา เพลงปั่นฝ้าย กล่อมนางนอน แม่หม้ายเครือ ลาวเสด็จ พร้อมด้วยวงปล่อยแก่จังหวัดลำปางและจังหวัดเชียงใหม่ บรรเลงเพลงระบำ ร่ำเปิงลำปาง ล่องแม่ปิง หมู่เฮาจาวเหนือ  และเพลงปล่อยแก่ นับเป็นการแสดงบทเพลงที่เข้าถึงผู้ฟังและสร้างความประทับใจให้กับผู้รับฟัง ซึ่งโครงการวิจัยดังกล่าวจะนำไปสู่การสร้างสรรค์ดนตรีควบคู่กับวัฒนธรรม ขนบธรรมเนียมประเพณี และความเชื่อ เป็นศิลปะในการสื่อสาร ถ่ายทอดอารมณ์ความรู้สึกต่าง ๆ ไปสู่ผู้ฟัง ดนตรีเป็นภาษาสากลที่ไม่ว่าจะเป็นชนชาติใด ภาษาใด ก็สามารถรับรู้ และเข้าใจอรรถรสของดนตรีได้ผ่านด้วยเสียงเพลง

ไม่มีความคิดเห็น