วช. ร่วมกับ GISTDA จับมือ จ.อุทัยธานี เปิดทดลองใช้แอป “เช็คแล้ง” ประเมินความเสี่ยงภัยแล้ง หวังลดความเสียหายพืชเกษตรรายแปลง

วช. ร่วมกับ GISTDA จับมือ จ.อุทัยธานี เปิดทดลองใช้แอป “เช็คแล้ง” ประเมินความเสี่ยงภัยแล้ง หวังลดความเสียหายพืชเกษตรรายแปลง

วันที่ 15 มีนาคม 2566 กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม โดย สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) และ สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) (สทอภ.) หรือ GISTDA ร่วมกับ จังหวัดอุทัยธานี จัดการประชุมและอบรมเชิงปฏิบัติการ แพลตฟอร์ม “การประเมินพื้นที่เสี่ยงภัยแล้งและความเสียหายของพืชเกษตรรายแปลงจากแบบจำลอง ด้วยเทคโนโลยีภูมิสารสนเทศ” ภายใต้การสนับสนุนการวิจัยและนวัตกรรม จาก วช. 

โดยมี นายพีระพล  ตัณฑโอภาส รองผู้ว่าราชการจังหวัดอุทัยธานี เป็นประธานเปิดการประชุม 
โดย ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ ได้มอบหมายให้ ผู้ทรงคุณวุฒิ วช. และ ภารกิจการวิจัยและนวัตกรรมของประเทศ ด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม พร้อมด้วยกลุ่มสารนิเทศและประชาสัมพันธ์ และสื่อมวลชน เข้าร่วมการประชุมฯ เพื่อการนำเสนอแพลตฟอร์มการประเมินพื้นที่เสี่ยงภัยแล้งของพืชเกษตรรายแปลงจากแบบจำลองด้วยเทคโนโลยีภูมิสารสนเทศในการขับเคลื่อนการใช้ประโยชน์จากงานวิจัย ณ ศาลากลางจังหวัดอุทัยธานี 

นายพีระพล ตัณฑโอภาส รองผู้ว่าราชการจังหวัดอุทัยธานี กล่าวว่า ในนามจังหวัดอุทัยธานีขอต้อนรับเจ้าหน้าที่จากสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) GISTDA และสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ในฐานะที่ วช. ได้สนับสนุนทุนวิจัยและนวัตกรรม แก่ GISTDA รวมทั้งขอต้อนรับผู้ทรงคุณวุฒิ วช. หัวหน้าศูนย์ราชการ และผู้เกี่ยวข้องทุกท่าน ที่มาร่วมประชุมและอบรมเชิงปฏิบัติการ “การประเมินพื้นที่เสี่ยงภัยแล้งของพืชเกษตรรายแปลง” เป็นการนำเสนอเทคโนโลยีสมัยใหม่ในการสำรวจพื้นที่ ซึ่งต่างกับการสำรวจในสมัยก่อน อาจจะมีปัญหาในการสำรวจความเสี่ยง และเทคโนโลยีแบบสมัยใหม่ที่นำมาใช้ในการสำรวจ ทำให้สามารถพิสูจน์ได้อย่างถูกต้องและแก้ปัญหาได้ดีขึ้น

“ในนามตัวแทนจังหวัดอุทัยธานีขอขอบคุณอีกครั้ง ในส่วนของสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ที่สนับสนุนทุนวิจัยและนวัตกรรม และขอขอบคุณรองผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ และทุกส่วนที่เกี่ยวข้อง มี 3 เรื่องที่ต้องช่วยกันเพื่อให้การใช้เทคโนโลยีเกิดประโยชน์มากที่สุด คือ 1.ความเที่ยงตรง 2.ความรวดเร็ว และ 3.ไม่เกิดปัญหาตามมา” รองผู้ว่าฯ อุทัยธานี กล่าวทิ้งท้าย 

ดร.สมชาย  ใบม่วง ผู้ทรงคุณวุฒิ วช. กล่าวว่า ปัจจุบันการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยแล้ง อาศัยข้อมูลปริมาณน้ำฝนของกรมอุตุนิยมวิทยา ซึ่งมีการรายงานของฝนทิ้งช่วงต่อเนื่องในช่วงฤดูกาลเพาะปลูกพืช ประกาศเป็นพื้นที่ภัยแล้งในระดับจังหวัด และให้เกษตรกรที่ได้รับผลกระทบขึ้นทะเบียนกับกรมส่งเสริมการเกษตร เพื่อขอรับเงินค่าชดเชย โดยจะต้องมีการตรวจสอบยืนยันความเสียหายจากเจ้าหน้าที่ของรัฐก่อนถึงจะสามารถดำเนินการจ่ายค่าชดเชยได้ ทำให้การช่วยเหลือเกษตรกรเกิดความล่าช้าและสินเปลืองกำลังคนในการสำรวจตรวจสอบจำนวนมาก วช. จึงได้ให้การสนับสนุน GISTDA ในการดำเนินโครงการ “ประเมินพื้นที่เสี่ยงภัยแล้งและความเสียหายของพืชเกษตรรายแปลง ด้วยเทคโนโลยีภูมิสารสนเทศ” โดยคณะนักวิจัยได้สร้างแบบจำลองการวิเคราะห์และประเมินพื้นที่เสี่ยงภัยแล้ง และความเสียหายของพืชเกษตรรายแปลง แบบอัตโนมัติ และจัดทำเป็นแพลตฟอร์มเพื่อสนับสนุนการตัดสินใจในการช่วยเหลือเกษตรกรผู้ประสบภัยแล้ง รวมทั้ง การขับเคลื่อน ติดตาม ประเมินผลลัพธ์และผลตอบแทนทางสังคมให้กับหน่วยงานระดับนโยบาย อาทิ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงมหาดไทย กรมส่งเสริมการเกษตร กรมชลประทาน กรมอุตุนิยมวิทยา เป็นต้น โดยคณะผู้ตรวจสอบทางวิชาการของโครงการวิจัยได้ลงพื้นที่จังหวัดอุทัยธานีเพื่อดูผลการนำผลงานวิจัยมาใช้ประโยชน์  เพื่อให้รู้ถึงปัญหาของการใช้งานของแพลตฟอร์ม เมื่อนำมาใช้งานจริง

นางสาววรนุช  จันทร์สุรีย์ นักวิจัย GISTDA เปิดเผยว่า คณะผู้วิจัยได้ศึกษาและรวบรวมข้อมูลดาวเทียมที่มีศักยภาพและเกี่ยวข้องกับการประเมินพื้นที่เสี่ยงภัยแล้งและความเสียหายของพืช โดยพิจารณาถึงดาวเทียมทั้งในระบบ Passive และระบบ Active ความละเอียดปานกลาง (Moderate Resolution Satellites) และดาวเทียมความละเอียดสูง (High Resolution Satellites) โดยได้เลือกใช้ข้อมูลดาวเทียมจำนวน 4 ดวง ได้แก่ ดาวเทียม Suomi NPP ระบบ Passive ดาวเทียม Soil Moisture Active Passive (SMAP) ดาวเทียม Global Precipitation Measurement (GPM) และดาวเทียม Sentinel-2 นอกจากนี้ข้อมูลดาวเทียม ยังมีการศึกษาและรวบรวมข้อมูลอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง อาทิ ข้อมูลการใช้น้ำของพืช ข้อมูลปริมาณน้ำฝน เป็นข้อมูลที่ได้จากสถานีตรวจวัดจากกรมอุตุนิยมวิทยา ซึ่งผลการศึกษาแบ่งออกเป็น 4 ส่วนที่สำคัญ ได้แก่ 1. การสร้างแบบจำลองการประเมินพื้นที่เสี่ยงภัยแล้ง 2. การสร้างแบบจำลองการประเมินความเสียหายของพืชเกษตรรายแปลง 3. การสร้างแพลตฟอร์มเพื่อสนับสนุนการตัดสินใจ 4. การขับเคลื่อนติดตาม ประเมินผลลัพธ์และผลตอบแทนทางสังคม

สำหรับการอบรมเชิงปฏิบัติการ แพลตฟอร์ม “การประเมินพื้นที่เสี่ยงภัยแล้งและความเสียหายของพืชเกษตรรายแปลง ด้วยเทคโนโลยีภูมิสารสนเทศ” วช. และ GISTDA ร่วมกับ จังหวัดอุทัยธานี จัดขึ้นระหว่างวันที่ 15 – 16 มีนาคม 2566 ณ ศาลากลางจังหวัดอุทัยธานี อำเภอเมือง และที่ว่าการอำเภอสว่างอารมณ์ อำเภอสว่างอารมณ์  จังหวัดอุทัยธานี ภายในการอบรมดังกล่าวมีวิทยากรจากหน่วยงานต่าง ๆ นำองค์ความรู้มาถ่ายทอดแก่เกษตรกรและประชาชน ได้แก่ การขับเคลื่อนการใช้ประโยชน์จากงานวิจัย โดย สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ, การใช้งาน Web Application แพลตฟอร์ม “การประเมินพื้นที่เสี่ยงภัยแล้งและความเสียหายของพืชเกษตรรายแปลง ด้วยเทคโนโลยีภูมิสารสนเทศ” โดย GISTDA, แนวทางและมาตรการการช่วยเหลือเกษตรกรผู้ประสบภัย โดย สำนักงานปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์, การใช้ประโยชน์ข้อมูลทะเบียนเกษตรกร โดย กรมส่งเสริมการเกษตร, การบริหารจัดการน้ำในพื้นที่เกษตร โดย กรมชลประทาน, การพยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร โดย กรมอุตุนิยมวิทยา และแนวทางมาตรการการบริหารจัดการน้ำอย่างเป็นระบบ โดย สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ

การจัดอบรมเชิงปฏิบัติการในครั้งนี้ จะช่วยขยายการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมภูมิสารสนเทศ รวมถึงบูรณาการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมภูมิสารสนเทศในการช่วยเหลือเกษตรกรที่ประสบภัยแล้ง ในด้านต่าง ๆ อาทิ ด้านการเกษตร ด้านภัยพิบัติ และด้านการบริหารจัดการน้ำ เพื่อให้เกษตรกรและประชาชนทั่วไปทุกพื้นที่ของประเทศสามารถเข้าถึงการใช้งานเพื่อประโยชน์ในภาคการเกษตรได้แบบยั่งยืนและใช้เป็นข้อมูลในการช่วยเหลือและฟื้นฟูผู้ประสบภัย ซึ่งสอดคล้องกับข้อมูลที่อยู่ภายใต้การประเมินความเสียหายด้วยเทคโนโลยีภูมิสารสนเทศเพื่อความถูกต้อง แม่นยํา และรวดเร็วมากยิ่งขึ้น

ทั้งนี้ สามารถโหลดแอปพลิเคชั่น “เช็คแล้ง” ได้ทั้งระบบ Android และ ios เพื่อประเมินติดตามภัยแล้งของพืชเกษตร ผ่านข้อมูลดาวเทียมรายละเอียดสูง หรืออีกแพลตฟอร์มผ่านทางเว็บไซต์ https://cropsdrought.gistda.or.th

ไม่มีความคิดเห็น