วช. ร่วมกับ มรภ.ยะลา หนุนอุตสาหกรรมท่องเที่ยว ยกระดับธุรกิจโฮมสเตย์ จังหวัดยะลา

วช. ร่วมกับ มรภ.ยะลา หนุนอุตสาหกรรมท่องเที่ยว ยกระดับธุรกิจโฮมสเตย์ จังหวัดยะลา

สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ลงพื้นที่เยี่ยมชมผลสำเร็จโครงการวิจัยฯ โดย ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ ได้มอบหมายให้ นายสุพจน์  อาวาส ผู้ทรงคุณวุฒิ วช. พร้อมด้วยสื่อมวลชน ลงพื้นที่ติดตามผลสำเร็จโครงการวิจัยฯ ซึ่ง วช. ได้สนับสนุนทุนวิจัยให้ โครงการเรื่อง “การยกระดับการท่องเที่ยวโดยใช้ธุรกิจโฮมสเตย์ เป็นฐานการพัฒนาเพื่อเพิ่มมูลค่าเศรษฐกิจและสังคมเชิงพื้นที่ จังหวัดยะลา” 

โดย รศ.ดร.นันทรัตน์ นามบุรี คณบดีคณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา  ดร.กัลยรัตน์ พินิจจันทร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา เป็นหัวหน้าโครงการวิจัย นายหว่างหลาย แช่หลิน ผู้นำชุมชน  และชาวบ้านให้การต้อนรับ ณ ชุมชนบ้านปิยะมิตร 3 อำเภอเบตง จังหวัดยะลา

นายสุพจน์  อาวาส ผู้ทรงคุณวุฒิ วช. กล่าวว่า วช. ภายใต้กระทรวง อว. เป็นหน่วยงานหลักที่ให้การสนับสนุนทุนวิจัย พัฒนาบุคลากร ด้วยงานวิจัยและนวัตกรรม ซึ่งจากผลสำเร็จของโครงการการยกระดับการท่องเที่ยวโดยใช้ธุรกิจโฮมสเตย์ เป็นฐานการพัฒนาเพื่อเพิ่มมูลค่าเศรษฐกิจและสังคมเชิงพื้นที่ จังหวัดยะลา ที่ได้รับทุนสนับสนุนจาก วช. เพื่อดำเนินการพัฒนาต้นแบบการจัดการธุรกิจโฮมสเตย์เพื่อยกระดับศักยภาพการจัดการและคุณภาพการบริการของธุรกิจโฮมสเตย์ เพิ่มมูลค่าเศรษฐกิจและสังคมเชิงพื้นที่ จังหวัดยะลา และถ่ายทอดต้นแบบการจัดการธุรกิจโฮมสเตย์ให้แก่ผู้ประกอบการเพื่อใช้เป็นแนวทางในการประกอบธุรกิจโฮมสเตย์ เพิ่มมูลค่าเศรษฐกิจและสังคมต่อไป

ดร.กัลยรัตน์ พินิจจันทร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา กล่าวว่า จังหวัดยะลาเป็นเมืองที่มีผังเมืองที่สวยงามของประเทศไทย มีสถานที่ท่องเที่ยวที่มีความหลากหลาย จนมีคำขวัญว่า “ใต้สุดสยามเมืองงามชายแดน” และอยู่บนเทือกเขาสันกาลาคีรีมีหมอกทั้งปี พร้อมอยู่ในแนวพื้นที่ป่าฮาลาบาลา ที่ใหญ่ที่สุดในภาคใต้ รวมถึงมีแหล่งท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์ วิถีวัฒนธรรม ที่มีความเป็นเอกลักษณ์เฉพาะที่น่าหลงไหล จากสถิติจำนวนนักเที่ยว 2 ปีย้อนหลัง พบว่า นักท่องเที่ยวมีจำนวนลดลง เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้เกิดผลกระทบในระบบเศรษฐกิจในพื้นที่อย่างมหาศาล จึงทำให้หลายหน่วยงานช่วยกันผลักดันนโยบายการแก้ปัญหาเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยว รวมถึงสร้างความเข้มแข็งของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวอย่างเร่งด่วน

คณะผู้วิจัยมหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา เห็นถึงความสำคัญจึงเริ่มศึกษาโครงการ “การยกระดับการท่องเที่ยวโดยใช้ธุรกิจโฮมสเตย์ เป็นฐานการพัฒนาเพื่อเพิ่มมูลค่าเศรษฐกิจและสังคมเชิงพื้นที่ จังหวัดยะลา” โดยเริ่มจากศึกษาความต้องการและความพึงพอใจของนักท่องเที่ยว ต่อการบริหารจัดโฮมสเตย์ที่อำเภอธารโต และอำเภอเบตง และนำเสนอแนวทางปฏิบัติธุรกิจโฮมสเตย์และสร้างองค์ความรู้ให้ผู้ประกอบการในการบริหารจัดการธุรกิจโฮมสเตย์ให้กับ ผู้ประกอบการ โดยผู้วิจัยใช้การสัมภาษณ์และกิจกรรมสนทนากลุ่มประกอบด้วย ผู้ประกอบการธุรกิจโฮมสเตย์ นักวิชาการ หน่วยงานภาครัฐ และสมาชิกชุมชน พบว่า นักท่องเที่ยวส่วนใหญ่ให้ความสนใจเข้าพักโฮมเสตย์เพื่อสัมผัสความเป็นธรรมชาติ แต่พบปัญหาในการดำเนินธุรกิจ คือ ไม่มีรูปแบบในการดำเนินธุรกิจ ขาดความรู้และทักษะด้านการบริหารจัดการ การพัฒนาสินค้าและบริการด้านการท่องเที่ยวที่เป็นอัตลักษณ์และนำภูมิปัญญาท้องถิ่นมาบูรณาการ การจัดการด้านสิ่งแวดล้อมของชุมชน และด้านคุณภาพการให้บริการที่ยังไม่เป็นมาตรฐานเดียวกัน จากความสำคัญและปัญหาดังกล่าว คณะผู้วิจัยจึงให้ความสำคัญกับมาตรฐานโฮมสเตย์ โดยคำนึงถึงความต้องการของนักท่องเที่ยวมากขึ้น จากการศึกษาโฮมสเตย์ที่ผ่านมา ทำให้เห็นทิศทางและแนวโน้มว่างานวิจัยโฮมสเตย์ในระยะต่อไป ควรมีการพัฒนามาตรฐานของการท่องเที่ยวแบบโฮมสเตย์ไปสู่สากลซึ่งเป็นการปรับตัวตามยุคสมัย แต่ในขณะเดียวกันต้องรักษาจุดสมดุลของระบบนิเวศ และวิถีชีวิตทางสังคมวัฒนธรรมชุมชนเอาไว้ เพื่อให้การท่องเที่ยวโฮมสเตย์ในบริบทของสังคมชุมชนท้องถิ่นไทยมีความยั่งยืน


ทั้งนี้ โครงการการยกระดับการท่องเที่ยวโดยใช้ธุรกิจโฮมสเตย์ ยังได้มีการยกระดับอัตลักษณ์อาหาร โดยการนำพืชผักผลไม้ท้องถิ่นมายกระดับอาหารเพื่อเอาใจนักท่องเที่ยวชาวไทย และชาวต่างชาติ ซึ่งมีเมนู เช่น ทุเรียนชุบแป้งทอด ผัดยอดมะระหวานทรงเครื่อง ซุปทุเรียนน้ำ แกงคั่วกะทิทุเรียนปลานิล ปลานิลน้ำไหลทอด และข้าวผัดทรงเครื่อง เป็นต้น

ดร.กัลยรัตน์ พินิจจันทร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา กล่าวทิ้งท้ายว่า ผลผลิตจากโครงการวิจัยจะนำไปสู่การยกระดับการท่องเที่ยวโดยใช้ธุรกิจโฮมสเตย์เป็นฐานให้มีมาตรฐานในการรับรองนักท่องเที่ยวที่จะมาเยือนให้ได้รับความพึงพอใจสูงสุด และนำไปสู่การกลับมาเที่ยวซ้ำและบอกต่อ รวมถึงสามารถเป็นแหล่งสร้างงาน สร้างรายได้ ลดความเหลื่อมล้ำแก่ชุมชน ๆ สามารถพึ่งพาตนเองได้ เกิดรายได้จากการท่องเที่ยวเพิ่มสูงขึ้นนำไปสู่การขยายตัวของเศรษฐกิจฐานรากในพื้นที่จังหวัดยะลาอย่างยั่งยืน อีกด้วย

ไม่มีความคิดเห็น