สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีทรงเปิดงาน ‘วันนักประดิษฐ์ ประจำปี 2566’ทรงย้ำ ‘นักประดิษฐ์ สร้างผลงานเพื่อประชาชน สังคม และประเทศชาติ’

สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีทรงเปิดงาน ‘วันนักประดิษฐ์ ประจำปี 2566’ทรงย้ำ ‘นักประดิษฐ์ สร้างผลงานเพื่อประชาชน สังคม และประเทศชาติ’ 

สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินทรงเปิดงาน “วันนักประดิษฐ์ ประจำปี 2566” (Thailand Inventors’ Day 2023) ครั้งที่ 24 จัดโดย สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ร่วมกับหน่วยงานเครือข่ายในระบบวิจัยทั่วประเทศและภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง โดยมี ศ.พิเศษ ดร.เอนก รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ศ.ดร.นพ.สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล ปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงารการวิจัยแห่งชาติ ผู้บริหารวช. และผู้ทรงคุณวุฒิ วช. เฝ้ารับเสด็จฯ ณ อีเว้นท์ ฮอลล์ 100-102 ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค บางนา

ในการนี้ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานรางวัลการวิจัยแห่งชาติ ประกอบด้วย รางวัลนักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ รางวัลผลงานวิจัย รางวัลวิทยานิพนธ์ และรางวัลผลงานประดิษฐ์คิดค้น ประจำปี 2566 จำนวน 165 รางวัล เพื่อเป็นการส่งเสริมและสนับสนุนการวิจัยและพัฒนานวัตกรรม รวมท้ังเพื่อเชิดชูเกียรติและประกาศเกียรติคุณแก่นักวิจัยและนักประดิษฐ์ที่ได้ค้นคว้าวิจัย และคิดค้นสิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรม ที่เป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาประเทศ และทรงมีพระดำรัสเปิดงาน “วันนักประดิษฐ์ ประจำปี 2566” ความสำคัญว่า

“การวิจัยสิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรมเป็นปัจจัยสำคัญในการเสริมสร้างให้เศรษฐกิจของชาติมีความเข้มแข้ง พึ่งพาตนเองได้ มีความพร้อมที่จะแข่งขันในเวทีโลก เศรษฐกิจของประเทศดีย่อมจะส่งผลดีในด้านการประกอบการและรายได้ของภาคประชาชน สร้างเสริมให้ฐานะและความเป็นอยู่ของประชาชนดียิ่งขึ้น งานวันนักประดิษฐ์ที่จัดขึ้นเป็นประจำทุกปี ทำให้เราเห็นว่าประเทศไทยมีผู้มีความรู้ความสามารถในทางประดิษฐ์คิดค้นเป็นจำนวนมาก หากได้รับการสนับสนุนส่งเสริมก็จะมีกำลังใจให้คิดค้นสิ่งที่เป็นคุณแก่สังคม ชาติ บ้านเมือง การประดิษฐ์คิดค้นควรมีวัตถุประสงค์ในทางสร้างสรรค์ ในทางที่จะช่วยแก้ไขปัญหา ช่วยพัฒนาสังคม ปรับปรุงคุณภาพชีวิตของผู้คน พัฒนาประเทศชาติให้เจริญก้าวหน้าอย่างมั่นคงในทุกด้าน อันจะเกิดผลเป็นความเจริญอย่างยั่งยืน งานวันนักประดิษฐ์ยังเป็นแรงจูงใจ และเป็นแนวทางแก่เยาวชน ตลอดจนผู้นิยมชมชอบการประดิษฐ์ให้เกิดความคิดที่จะผลิตผลงานที่มีประโยชน์ เป็นการใช้สติปัญญาและความรู้ความสามารถในทางที่เหมาะสม” 

จากนั้น สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จฯ ทอดพระเนตรนิทรรศการเฉลิมพระเกียรติ และนิทรรศการผลงานที่ได้รับรางวัลการวิจัยแห่งชาติ นิทรรศการผลงานสิ่งประดิษฐ์คิดค้นที่ได้รับรางวัลจากนานาชาติ นิทรรศการนวัตกรรมสิ่งประดิษฐ์สร้างสรรค์ นิทรรศการสิ่งประดิษฐ์สร้างมูลค่า นิทรรศการพื้นที่เรียนรู้กับนวัตกรรมโดรน ขบวนการผู้พิทักษ์ป่าไม้ ขุมทรัพย์ป่าชายเลน นิทรรศการ U2T นิทรรศการสิ่งประดิษฐ์สู่นวัตกรรม นิทรรศการนักประดิษฐ์วิจิตรศิลป์ นิทรรศการเล็ก ๆ สู่ก้าวที่ยิ่งใหญ่ นิทรรศการสิ่งประดิษฐ์สู่การใช้ประโยชน์จากหน่วยงานเครือข่าย 6 กลุ่มเรื่อง ประกอบด้วย ด้านความมั่นคง ด้านการเกษตรเพิ่มมูลค่า ด้านอุตสาหกรรมและบริการแห่งอนาคต ด้านนวัตกรรมเพื่อการเรียนรู้อย่างมีคุณภาพ ด้านนวัตกรรมสังคมผู้สูงวัยและผู้พิการ และด้านนวัตกรรมสีเขียว จุดเริ่มต้นมหกรรมสิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรมนานาชาติ จาก 24 ประเทศ อาทิ แคนาดา  จีน โครเอเชีย ฮ่องกง อินเดีย อินโดนีเซีย ญี่ปุ่น อังกฤษ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ เป็นต้น การประกวดสิ่งประดิษฐ์ระดับนานาชาติ : โครงการ Bangkok International Intellectual Property, Invention and Technology Exposition (IPITEx) การประกวดสิ่งประดิษฐ์ระดับเยาวชน โครงการ Thailand New Gen Inventors Awards 2023 : I-New Gen Award 2023 เมื่อสมควรแก่เวลาแล้วจึงเสด็จกลับ

นายรัชพล เต๋จ๊ะยา โรงเรียนสตรีวิทยา เจ้าของผลงาน “การผลิตกระจกเกรียบตามอย่างโบราณ เพื่อพัฒนาสู่การบูรณะและต่อยอดงานศิลปกรรมไทย” ได้มีโอกาสเข้าเฝ้าฯ กราบบังคมทูลถึงการประดิษฐ์คิดค้นกระจกเกรียบ เผยว่า “พระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงมีรับสั่งชื่นชมว่าเป็นงานที่ใช้ความรู้ทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ควบคู่กับภูมิปัญญาของคนรุ่นเก่าก่อให้เกิดการอนุรักษ์ งานกระจกเกรียบถือเป็นงานศิลปกรรมแห่งยุครัตนโกสินทร์ที่เกือบจะสูญหายไปแล้ว แต่วันนี้ได้มาเห็นกระจกเกรียบที่ใช้ความรู้สมัยใหม่ทำให้ยินดีว่ากระจกเกรียบอย่างโบราณฟื้นคืน อันจะเป็นประโยชน์ต่องานอนุรักษ์ และเป็นประโยชน์ยิ่งต่อการบูรณะราชภัณฑ์ และโบราณสถานต่างๆ ส่วนตัวผมรู้สึกดีใจและภูมิใจเป็นอย่างมากที่ผลงานของเราจะเกิดประโยชน์ต่อการอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมของชาติ”

การผลิตกระจกเกรียบตามอย่างโบราณ เพื่อพัฒนาสู่การบูรณะและต่อยอดงานศิลปกรรมไทย เป็นสิ่งประดิษฐ์ที่คิดจากแนวคิด “วัฒนธรรมนวัตกรรม”  เป็นการฟื้นฟูองค์ความรู้ทางศิลปวัฒนธรรมในอดีต ด้วยเทคนิคใหม่ คือนำวัตถุธาตุในท้องถิ่นมาผสมแล้วบดเป็นผงหลอมหลวมกับตะกั่ว จนได้น้ำแก้วร้นอมาดาดเทลงบนแผ่นโลหะเรียบเสมอกัน จากนั้นกดด้วยแท่งโลหะทองเหลืองกำหนดความหนาบาง จนได้แผ่นแก้วตามต้องการ และมีความคล้ายคลึงกับกระจกเกรียบสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ สามารถนำไปประยุกต์ใช้กับการบูรณโบราณสถาน สถาปัตยกรรมไทยที่มีการประดับกระจกเกรียบ และสามารถนำไปพัฒนาหัตถศิลป์พื้นบ้าน งานประดับเครื่องศิราภรณ์ งานปักไทยประดับกระจกเกรียบ หรืองานศิลปหัตถกรรมอื่นๆ เพื่อเพิ่มมูลค่าในเชิงการค้าได้
ด้านผลงาน “เท้าเทียมไดนามิกส์สำหรับผู้พิการขาขาดที่แข็งแรง” เป็นนวัตกรรมเท้าเทียมที่ผลิตจากวัสดุคาร์บอน ไฟเบอร์ ทนทาน แข็งแรง มีน้ำหนักเบา มีความยืดหยุ่นเสมือนมีข้อเท้าที่สามารถงอขึ้นลงบิดซ้ายขวาได้เหมือนเท้าคนปกติ และสามารถเก็บและปล่อยพลังงานคืนในจังหวะที่เหมาะสมซึ่งเหมาะกับผู้พิการขาขาดที่ยังคงมีความแข็งแรงอยู่ ให้สามารถกลับมาเดินและวิ่ง ใช้ชีวิตได้อย่างปกติ ประดิษฐ์โดย รศ.ดร.ไพรัช ตั้งพรประเสริฐ และคณะ คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกับ โรงเรียนกายอุปกรณ์สิริธร คณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล อีกหนึ่งผลงานที่ได้ทอดพระเนตร 

รศ.ดร.ไพรัช ตั้งพรประเสริฐ กล่าวว่า  “พระองค์ท่านทรงจำได้ว่าเคยทอดพระเนตรผลงานเท้าเทียมนี้มาก่อน ทรงมีรับสั่งถามว่านี่คือผลงานที่เคยแสดงในงานจุฬาวิชาการ ที่คณะวิศวะฯ ใช่ไหม (ประมาณปี พ.ศ. 2560) พระองค์ท่านทรงเล่าว่า เมื่อครั้งที่หกล้ม คุณหมอสั่งไม่ให้เดินมาก ตอนนั้นรู้สึกกลัวเดินไม่ได้มาก คิดว่าผู้พิการก็คงรู้สึกเหมือนกัน การคิดสิ่งประดิษฐ์นี้ก็จะเป็นประโยชน์สามารถสร้างความสุขให้เขาได้ นอกจากนี้ยังรับสั่งถามว่า ผลงานนี้จะออกสู่สาธารณชนหรือยัง จึงกราบบังคมทูบตอบว่าได้เปิดเป็นบริษัทผลิตเพื่อจำหน่ายแล้ว”

งาน “วันนักประดิษฐ์ ประจำปี 2566” จัดขึ้นภายใต้แนวคิด “ขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมไทยด้วยสิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรม” โดยจัดขึ้นอย่างต่อเนื่องเป็นปีที่ 24 เพื่อน้อมรำลึกถึงวันประวัติศาสตร์ การทูลเกล้าฯ ถวายสิทธิบัตรการประดิษฐ์ “กังหันน้ำชัยพัฒนา” แด่ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร์ มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร “พระบิดาแห่งการประดิษฐ์ไทย” โดยปีนี้มีผลงานสิ่งประดิษฐ์คิดค้นจากนักประดิษฐ์ไทยและนานาชาติ ร่วมนำเสนอผลงานกว่า 1,000 ผลงาน ระหว่างวันที่ 2-6 กุมภาพันธ์ 2566 ณ อีเว้นท์ ฮอลล์ 100-102 ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค บางนา

ไม่มีความคิดเห็น