วช. แอ่วเหนือ! ถ่ายทอดเทคโนโลยีโดรนอัตโนมัติ พัฒนาการเกษตรพื้นที่สูง ณ โครงการร้อยใจรักษ์ จ.เชียงใหม่
วช. แอ่วเหนือ! ถ่ายทอดเทคโนโลยีโดรนอัตโนมัติ พัฒนาการเกษตรพื้นที่สูง ณ โครงการร้อยใจรักษ์ จ.เชียงใหม่
วันที่ 17 มกราคม 2566 สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม โดย ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ นำคณะผู้ทรงคุณวุฒิ วช. ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมการดำเนินงานกิจกรรมส่งเสริมและสนับสนุนการวิจัยและนวัตกรรม โครงการถ่ายทอดเทคโนโลยีโดรนระบบอัตโนมัติเพื่อประยุกต์ใช้งานการพัฒนาพื้นที่สูง ในการสำรวจพื้นที่ การเกษตร การขนส่งสิ่งของ และการป้องกันการเกิดไฟป่า โดยมี นายณรงค์ อภิชัย ผู้อำนวยการสำนักบริหารโครงการและประธานสายปฏิบัติการพัฒนามูลนิธิแม่ฟ้าหลวง นายสมบูรณ์ แสงจันทร์ ประธานกลุ่มวิสาหกิจชุมชนไม้ผลคุณภาพบ้านห้วยส้าน ตำบลท่าตอน อำเภอแม่อาย จังหวัดเชียงใหม่ และนายพิศิษฐ์ มิตรเกื้อกูล นายกสมาคมกีฬาเครื่องบินจำลองและวิทยุบังคับ หัวหน้าโครงการฯ พร้อมด้วยเกษตรกรในพื้นที่โครงการร้อยใจรักษ์ ให้การต้อนรับ ณ โครงการร้อยใจรักษ์ อำเภอแม่อาย จังหวัดเชียงใหม่
ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ กล่าวว่า วช. ภายใต้กระทรวง อว. ได้สนับสนุนทุนแก่สมาคมกีฬาเครื่องบินจำลองและวิทยุบังคับ ในการดำเนินโครงการถ่ายทอดเทคโนโลยีโดรนระบบอัตโนมัติเพื่อประยุกต์ใช้งานการพัฒนาพื้นที่สูง (การสำรวจ การเกษตร และการป้องกันอุบัติภัย) ปัจจุบัน เทคโนโลยีอากาศยานไร้คนขับ ได้ถูกพัฒนาและนำมาใช้งานในหลากหลายด้าน ก่อให้เกิดประโยชน์ต่อธุรกิจในด้านต่าง ๆ มากมาย อีกทั้งยังทำให้การดำเนินธุรกิจสะดวกและรวดเร็วยิ่งขึ้น การที่สมาคมฯ ได้นำเทคโนโลยีดังกล่าวมาถ่ายทอดองค์ความรู้ให้กับผู้ใช้ประโยชน์ในพื้นที่โครงการร้อยใจรักษ์ อำเภอแม่อาย จังหวัดเชียงใหม่ นับว่าเป็นประโยชน์อย่างยิ่งที่ผู้ใช้ประโยชน์ในพื้นที่จะได้นำองค์ความรู้ไปพัฒนาการทำเกษตรในพื้นที่สูงให้มีประสิทธิภาพต่อไป
นายพิศิษฐ์ มิตรเกื้อกูล หัวหน้าโครงการฯ กล่าวว่า สมาคมกีฬาเครื่องบินจำลองและวิทยุบังคับ ได้รับการสนับสนุนทุนจาก วช. ในการดำเนินโครงการถ่ายทอดเทคโนโลยีโดรนระบบอัตโนมัติเพื่อประยุกต์ใช้งานการพัฒนาพื้นที่สูง (การสำรวจ การเกษตร และการป้องกันอุบัติภัย) ซึ่งโครงการนี้ได้นำเอาเทคโนโลยีโดรนระบบอัตโนมัติเข้ามาประยุกต์ในการใช้งานในพื้นที่สูง โดยสมาคมฯ ได้ถ่ายทอดองค์ความรู้ให้กับเจ้าหน้าที่มูลนิธิแม่ฟ้าหลวงในพระบรมราชูปถัมภ์ และชาวบ้านในพื้นที่โครงการร้อยใจรักษ์ ในการพัฒนาแปลงเกษตรพื้นที่สูง ทำให้เกิดการลดต้นทุนในการลงพื้นที่โดยการใช้โดรนทำหน้าที่แทนมนุษย์และยังเข้าถึงพื้นที่ที่มนุษย์เข้าถึงได้ยาก อีกทั้งการใช้โดรนยังช่วยในการทำเกษตรอินทรีย์และเกษตรที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ช่วยลดการปนเปื้อนสารพิษต่าง ๆ ทั้งในผลผลิตและสิ่งแวดล้อมอีกด้วย และสมาคมฯ มีแผนในการขยายผลความสำเร็จของโครงการฯ ไปใช้ประโยชน์ในพื้นที่อื่น ๆ ต่อไป
นายทรงวิทย์ แก้วมหานิล เจ้าหน้าที่ฝ่าย GIS มูลนิธิแม่ฟ้าหลวงในพระบรมราชูปถัมภ์ กล่าวถึงโดรนที่ใช้ว่าเป็นโดรนถ่ายภาพ เนื่องจากงานรับผิดชอบด้านงานแผนที่ภาพถ่ายทางอากาศ การจัดทำผังต้องใช้ภาพเทคโนโลยีมุมสูง การจัดการภาพถ่ายมุมสูงเพื่อวางแผนการจัดการพื้นที่เพื่อวางแผนการจัดการพื้นที่ ดังนี้ 1.การทำแผนที่ และ 2.การถ่ายภาพป่าพื้นที่ทำกิน รวมถึงเรื่องการจัดการพื้นที่ด้วย หลังจากที่ได้ใช้โดรนมีผลตอบรับ คือความสะดวก เมื่อก่อนทำงานเป็นทีมกับคนหมู่มาก การคุยกันในพื้นราบไม่เห็นภาพ แต่พอใช้โดรนบินขึ้นไปถ่ายภาพมาจะเห็นชัดเจน ทำให้เวลาวางแผนร่วมกันสามารถจัดวางคน จัดผังรายละเอียดได้ดีขึ้น
นายสมบูรณ์ แสนจันทร์ ประธานกลุ่มวิสาหกิจชุมชนไม้ผลคุณภาพบ้านห้วยส่าน หนึ่งในเกษตรกรใช้เทคโนโลยีโดรนเพื่อประยุกต์ใช้งานการพัฒนาพื้นที่สูงด้วยระบบ network 4G/5G โดยอาศัยอยู่ในพื้นที่ หมู่ที่ 10 ตำบลท่าตอน อำเภอแม่อาย จังหวัดเชียงใหม่ เจ้าของไร่ส้ม 30 ไร่ มะม่วง 25 ไร่ กล่าวว่า ได้ใช้โดรนมาประมาณ 5-6 เดือน พบว่าปัญหาการใช้งาน ตัวโดรนควรมีการปรับปรุงในเรื่องของเคมีที่นำมาใช้ จากที่ได้พ่นแบบละอองฝอย ควรปรับเปลี่ยนเป็นแบบผงแป้ง เนี่องจากปัญหาที่พบคือ เวลาพ่นยาลงไร่สวนให้กระจาย ละอองจะแห้งเร็ว ไม่สามารถที่จะทันได้สัมผัสตัวแมลงที่เป็นศัตรูพืช ก็จะระเหยไปก่อน แต่ถ้าเปลี่ยนเป็นใช้ดูดซึม ต้องใช้เวลาให้ลดเวลาการระเหยให้นานขึ้น ก็อาจจะต้องมีการปรับเปลี่ยนเรื่องของละอองให้ใหญ่เพื่อให้เกาะได้นานขึ้น สำหรับประโยชน์จากการใช้โดรนช่วยลดต้นทุนสารเคมี จากที่เคยใช้ 1 ลิตรกับถังยา 200 ลิตร จะใช้อัตรา 200-300 ซีซี ซึ่งใช้ได้ไม่ถึงไร่ แต่เมื่อมาใช้โดรนแค่ 10-20 ซีซี ได้ต่อ 1 ไร่ ช่วยลดความเสี่ยงในการสัมผัสสารเคมี เมื่อได้มีการตรวจสุขภาพพบว่าสารเคมีไม่เกินมาตรฐานด้วย รวมถึงลดค่าแรงงาน ค่าน้ำมันสิ้นเปลืองอีกด้วย
นายอาเปียว หมื่อเต๊ะ อยู่บ้านเลขที่ 747 หมู่ที่ 9 ตำบลท่าตอน อำเภอแม่อาย จังหวัดเชียงใหม่ เกษตรกรผู้ปลูกเสาวรส จำนวน 2 ไร่ กล่าวถึงประโยชน์ของการใช้โดรนในการพ่นยากำจัดศัตรูพืช โดยที่ไม่ต้องถือถังพ่นยาด้วยตัวเองไม่ต้องสัมผัสสารเคมี ใช้โดรนในการฉีดพ่นได้ดีกว่าในต้นไม้ที่สูงได้อย่างทั่วถึงและยาเข้าถึงพืชผลได้ดีและยังช่วยประหยัดเวลาและค่าใช้จ่าย จากเคยมีค่าใช้จ่าย 500 บาท หากใช้โดรน จ่ายเพียง 80 บาทเท่านั้น
สำหรับโครงการถ่ายทอดเทคโนโลยีโดรนระบบอัตโนมัติเพื่อประยุกต์ใช้งานการพัฒนาพื้นที่สูง (การสำรวจ การเกษตร และการป้องกันอุบัติภัย) วช. ได้สนับสนุนทุนให้กับสมาคมกีฬาเครื่องบินจำลองและวิทยุบังคับ ในการดำเนินโครงการฯ โดยคณะผู้วิจัยได้ถ่ายทอดเทคโนโลยีโดรนระบบอัตโนมัติเพื่อประยุกต์ใช้งานการพัฒนาพื้นที่สูง แก่เจ้าหน้าที่มูลนิธิแม่ฟ้าหลวงในพระบรมราชูปถัมภ์ และชาวบ้านในพื้นที่โครงการร้อยใจรักษ์ โดยนำอากาศยานไร้คนขับแบบหลายใบพัด อากาศยานไร้คนขับแบบปีกตรึงขึ้นลงแนวดิ่ง และเทคโนโลยีการบังคับระยะไกลให้ก้าวล้ำนำสมัยผ่านการสื่อสารที่ไร้พรมแดนด้วยระบบ network 4G/5G ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการใช้งานเทคโนโลยีอากาศยานไร้คนขับ ทำให้เกิดประโยชน์และมีการนำองค์ความรู้ที่ได้รับมาไปประยุกต์ใช้ต่อยอดในการพัฒนาพื้นที่แปลงเกษตรพื้นที่สูง การสำรวจป่า หรือการใช้ประโยชน์ด้านความมั่นคงของประเทศ อีกทั้งสามารถใช้โดรนในการทำเกษตรอินทรีย์และเกษตรที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ลดการปนเปื้อนสารพิษต่าง ๆ ทั้งในผลผลิตและสิ่งแวดล้อม การใช้โดรนสำรวจการบุกรุกพื้นที่ป่า การเผาป่า และการป้องกันอุบัติภัยต่าง ๆ ในพื้นที่ และจะขยายผลความสำเร็จของโครงการฯ ไปใช้ประโยชน์ในพื้นที่ใกล้เคียงหรือพื้นที่อื่น ๆ ของประเทศต่อไป
ในการลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมโครงการฯ ครั้งนี้ คณะผู้ทรงคุณวุฒิได้มีการให้ข้อเสนอแนะโครงการฯ แก่คณะผู้วิจัยและเกษตรกรผู้ใช้งาน และยังมีการสาธิตการใช้งานโดรนระบบอัตโนมัติ โดยเกษตรกรผู้ใช้งานในพื้นที่โครงการร้อยใจรักษ์ ให้กับคณะผู้ทรงคุณวุฒิรับชมอีกด้วย
Post a Comment