สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ทอดพระเนตรความก้าวหน้าโครงการเครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์สามมิติแบบเคลื่อนย้ายได้ หรือ โมบีสแกน ที่พระราชทานให้ศูนย์ตะวันฉาย มหาวิทยาลัยขอนแก่น

สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ทอดพระเนตรความก้าวหน้าโครงการเครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์สามมิติแบบเคลื่อนย้ายได้ หรือ โมบีสแกน ที่พระราชทานให้ศูนย์ตะวันฉาย มหาวิทยาลัยขอนแก่น

เมื่อเวลา ๑๔.๐๐ น.  วันที่ ๑๙ ธันวาคม ๒๕๖๕ : สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินไปยัง คณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ทอดพระเนตรความก้าวหน้าโครงการเครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์สามมิติแบบเคลื่อนย้ายได้ หรือ โมบีสแกน (MobiiScan) ที่พระราชทานให้ศูนย์ตะวันฉาย มหาวิทยาลัยขอนแก่น โดยมี ศาสตราจารย์ ดร.ไพรัช ธัชยพงษ์ กรรมการและเลขาธิการมูลนิธิเทคโนโลยีสารสนเทศตามพระราชดําริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี นายไกรสร กองฉลาด ผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่น ดร.ณรงค์ชัย อัครเศรณี นายกสภามหาวิทยาลัยขอนแก่น รศ.นพ.ชาญชัย พานทองวิริยะกุล อธิการบดีมหาวิทยาลัยขอนแก่น  ศาสตราจารย์ ดร.ชูกิจ ลิมปิจำนงค์ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) รศ.ดร.ทพญ.วรานุช ปิติพัฒน์ คณบดีคณะทันตแพทยศาสตร์มหาวิทยาลัยขอนแก่น รศ.นพ. อภิชาติ จิระวุฒิพงศ์ คณบดีคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น รศ.ดร.ทพ.พูนศักดิ์ ภิเศก ผู้อำนวยการศูนย์ตะวันฉาย คณาจารย์ ข้าราชการ พนักงาน นักศึกษามหาวิทยาลัยขอนแก่น และนักวิจัยจากศูนย์วิจัยเทคโนโลยีสิ่งอำนวยความสะดวกและเครื่องมือแพทย์ (A-MED) สวทช. เฝ้ารับเสด็จ
จากนั้นสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จไปยังบริเวณจัดแสดงนิทรรศการทอดพระเนตรนิทรรศการ อาทิ ผลการดำเนินงานของศูนย์ตะวันฉาย ผลการใช้งานเครื่องโมบีสแกน ผลการพัฒนากระดูกเทียมสำหรับผู้ป่วยปากแหว่งเพดานโหว่ เป็นต้น 

โดยศูนย์ตะวันฉาย มหาวิทยาลัยขอนแก่น ได้รับพระราชทานพระราชานุญาตจากสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ให้จัดตั้งขึ้นเมื่อวันที่ ๒๔ พฤศจิกายน ๒๕๔๖  ต่อมาได้รับพระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้าฯ จากสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินเป็นองค์ประธานเปิดศูนย์การดูแลผู้ป่วยปากแหว่ง เพดานโหว่ และความพิการแต่กำเนิดของศีรษะและใบหน้า เมื่อวันที่ ๒๐ ธันวาคม ๒๕๔๗ ณ อาคารคลินิกทันตกรรม 1 คณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น  การดำเนินงานอยู่ภายใต้ความร่วมมือระหว่างคณะแพทยศาสตร์และคณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ซึ่งศูนย์ตะวันฉายเป็นศูนย์กลางในการให้บริการตรวจประเมิน ดูแล รักษาผ่าตัด และฟื้นฟูสภาพ ผู้ป่วยปากแหว่งเพดานโหว่และพิการแต่กำเนิดของศีรษะและใบหน้า ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภูมิภาคใกล้เคียง โรงพยาบาลศรีนครินทร์ คณะแพทยศาสตร์ และโรงพยาบาลทันตกรรม คณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น เป็นสองคณะสำคัญที่ร่วมดูแลรักษาผู้ป่วยกลุ่มนี้โดยมีศูนย์ตะวันฉายเป็นศูนย์กลางในการประสานงานหลัก ทำงานร่วมกันกับทีมสหสาขาวิชาชีพ ทั้งหมด ๑๔ สาขา และมีแนวทางที่ใช้ปฏิบัติร่วมกัน (Protocol) ในการดูแลรักษาผู้ป่วยปากแหว่งเพดานโหว่ได้รับการรักษาครบถ้วนตามช่วงอายุ และเพื่อให้ได้รับการแก้ไขความพิการของใบหน้าและกะโหลกศีรษะ ให้มีรูปลักษณ์ใบหน้าที่ใกล้เคียงเป็นปกติและสมบูรณ์แบบมากที่สุด

สำหรับการศึกษาอุบัติการณ์การเกิดภาวะปากแหว่งเพดานโหว่ของประเทศไทยพบเฉลี่ย ๑.๖๒ ต่อ ๑,๐๐๐ ของทารกแรกเกิดมีชีพ  โดยในภาคตะวันออกเฉียงเหนือพบว่า มีอุบัติการณ์สูง ๑.๙๓ รายต่อเด็กแรกเกิด ๑,๐๐๐ ราย ศูนย์ตะวันฉาย จึงเป็นศูนย์การดูแลผู้ป่วยปากแหว่งเพดานโหว่ฯ ที่ใหญ่ที่สุดในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีหน้าที่หลักในการให้บริการตรวจรักษา ผ่าตัด ฟื้นฟู และป้องกันโรคปากแหว่ง เพดานโหว่ฯ แก่ประชาชนทั่วไป ผู้ป่วยได้รับการรักษาที่โรงพยาบาลศรีนครินทร์ โรงพยาบาลทันตกรรม มหาวิทยาลัยขอนแก่นนั้น จากฐานข้อมูล DMIS ของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พบว่า โรงพยาบาลศรีนครินทร์ คณะแพทยศาสตร์ และโรงพยาบาลทันตกรรม คณะทันตแพทยศาสตร์ มีผู้ป่วยเข้ารับการรักษาผ่าตัด ฝึกพูด และทันตกรรมจัดฟันมากที่สุดในประเทศ 

ทั้งนี้ภาวะปากแหว่งเพดานโหว่ทำให้เกิดปัญหาต่อเนื่องในการดำเนินชีวิตต่างๆ ตามช่วงวัย ทั้งในด้านการดูแลรักษาเพื่อให้เกิดประสิทธิผลจนสามารถใช้ชีวิตได้อย่างปกติ ต้องอาศัยระยะเวลา ซึ่งบางรายต้องรักษาต่อเนื่องและยาวนานถึง ๒๐ ปี อีกทั้งครอบครัวและผู้ป่วยยังต้องสูญเสียค่าใช้จ่ายทางตรง ได้แก่ ค่ารักษา ค่าเดินทาง ค่าที่พัก ค่าอาหารและผู้ดูแลคนป่วย รวมถึงค่าใช้จ่ายทางอ้อม ได้แก่ ค่าสูญเสียรายได้ ค่าสูญเสียโอกาสจากเวลาที่รักษา เป็นต้น นอกจากนี้ยังต้องอาศัยบุคลากรสหสาขาวิชาชีพ ได้แก่ ศัลยแพทย์ตกแต่ง ทันตแพทย์ ประสาทศัลยแพทย์ โสต ศอ นาสิกแพทย์ จักษุแพทย์ รังสีแพทย์ กุมารแพทย์ วิสัญญีแพทย์ พยาบาลเชี่ยวชาญการให้นมเด็ก พยาบาลเชี่ยวชาญด้านการดูแลปากแหว่งเพดานโหว่ นักแก้ไขการพูดและนักสังคมสงเคราะห์ เป็นต้น
ดังนั้น การดูแลรักษาด้านการแพทย์และด้านทันตกรรมแก่ผู้ป่วยภาวะดังกล่าวนั้นจำเป็นต้องอาศัยเครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ทางการแพทย์สามมิติ ซึ่งเครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์สามมิติ ที่ติดตั้งอยู่ในโรงพยาบาลมีข้อจำกัดเรื่องเวลาในการใช้งาน ศูนย์ตะวันฉาย จึงได้ทำหนังสือถึงศาสตราจารย์ ดร.ไพรัช ธัชยพงษ์ กรรมการและเลขาธิการมูลนิธิเทคโนโลยีสารสนเทศตามพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี เพื่อนำความขึ้นกราบบังคมทูลขอพระราชทานพระราชวินิจฉัยจากสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ในการสนับสนุนเครื่อง MobiiScan ให้แก่ศูนย์ตะวันฉายจำนวน ๑ เครื่อง ซึ่งทรงมีพระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้าฯ ให้มูลนิธิเทคโนโลยีสารสนเทศตามพระราชดำริ ฯ ดำเนินการสนับสนุนเครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์สามมิติแบบเคลื่อนย้ายได้ (MobiiScan) และต่อมามูลนิธิทุนท่านท้าวมหาพรหมโรงแรมเอราวัณ ได้บริจาคเงินให้แก่มูลนิธิเทคโนโลยีสารสนเทศตามพระราชดำริฯ เพื่อสร้างเครื่อง สนับสนุนการสร้างเครื่อง MobiiScan และระบบแสดงผลภาพสามมิติผ่านคลาวด์ RadiiView (เรดีวิว) ให้แก่ศูนย์ตะวันฉายสำหรับใช้ในการตรวจประเมินรักษาผู้ป่วยปากแหว่งเพดานโหว่และความพิการแต่กำเนิดของศีรษะและใบหน้า ซึ่งได้ติดตั้งใช้เป็นเครื่องมือในการรักษาผู้ป่วยมาตั้งแต่เดือนตุลาคม ๒๕๖๕ มีผู้ได้รับการตรวจประเมินรักษาด้วยเครื่องดังกล่าวไปแล้วกว่า ๓๐ ราย



ไม่มีความคิดเห็น