วช. หนุนนวัตกรรมการถ่ายทอดเทคโนโลยีสร้างมูลค่าเพิ่มผลิตผลทางการเกษตรสินค้าชุมชนจากผลิตภัณฑ์เคลอินทรีย์
วช. หนุนนวัตกรรมการถ่ายทอดเทคโนโลยีสร้างมูลค่าเพิ่มผลิตผลทางการเกษตรสินค้าชุมชนจากผลิตภัณฑ์เคลอินทรีย์
สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ ( วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ให้การสนับสนุนทีมวิจัยจากคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในการคิดค้นนวัตกรรมการถ่ายทอดเทคโนโลยีสร้างมูลค่าเพิ่มผลิตผลทางการเกษตร ผลิตภัณฑ์จากเคลอินทรีย์เพื่อสร้างอัตลักษณ์สินค้าชุมชน เพิ่มช่องทางการตลาดและเพิ่มรายได้ชุมชน โดยมีการนำองค์ความรู้ถ่ายทอดสู่เกษตรกรในชุมชนผ่านศูนย์การเรียนรู้ในกลุ่มเกษตรกรเกษตรอินทรีย์ ตั้งแต่กระบวนการปลูกพืช การดูแลรักษา การเก็บเกี่ยว การแปรรูป เพื่อสร้างเป็นผลิตภัณฑ์ชุมชนสอดคล้องกับความต้องของตลาดตามเทรนด์อาหารสุขภาพจากพืชธรรมชาติที่มีคุณค่าทางโภชนาการ
ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ กล่าวว่า วช. เป็นกลไกสำคัญของรัฐในการขับเคลื่อนให้การสนับสนุนงานวิจัย สิ่งประดิษฐ์คิดค้นหรือนวัตกรรมต่าง ๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อประชาชน และสามารถถ่ายทอดเป็นองค์ความรู้สู่ชุมชน รวมถึงการส่งเสริมพัฒนาคุณภาพชีวิตและสิ่งแวดล้อม ทุกวันนี้มีนวัตกรรมที่เกี่ยวกับอาหารสุขภาพเพื่อสร้างภูมิคุ้มกันในร่างกาย เช่น เคล ซึ่งเป็นซุปเปอร์ฟู้ดที่มีคุณค่าทางอาหารสูง มีการนำองค์ความรู้มาพัฒนาแปรรูปให้สามารถบริโภคได้ง่ายขึ้น โดยทีมวิจัยจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้สร้างกระบวนการแปรรูปผงเคลอินทรีย์ของกลุ่มเกษตรกร เพื่อสร้างแบรนด์และมูลค่าเพิ่มทางการตลาดให้กับสินค้าชุมชนตามมาตรฐานของ อย. Organic Thailand และ USDA
รศ.ดร.ดุสิต อธินุวัฒน์ จากคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เปิดเผยว่า เกษตรอินทรีย์ Organic Agriculture เป็นระบบการเกษตรที่เป็นกลไกสำคัญในการคงไว้ซึ่งความอุดมสมบูรณ์และการมีสุขภาพที่ดีของดิน ระบบนิเวศ และมนุษย์ สร้างความหลากหลายทางชีวภาพ ตลอดจนส่งเสริมคุณภาพชีวิตของเกษตรกรรายย่อยในทุกมิติ จุดนี้เองได้มีการนำมาใช้กับผักสีเขียวที่มีคุณค่าทางสารอาหารสูงอย่างเคลอินทรีย์ ที่อุดมไปด้วยวิตามินและสารอาหารที่จำเป็นต่อร่างกาย ทั้งโปรตีน แคลเซียม เหล็ก โพแทสเซียม แมงกานีส และสารต้านอนุมูลอิสระ ช่วยป้องกันโรคมะเร็ง กระดูกพรุน บำรุงลือด ช่วยให้ผิวพรรณเปล่งปลั่ง และกำจัดสารพิษที่สะสมออกจากร่างกาย สามารถนำใบมาบริโภคสดและปรุงเป็นอาหาร จากสรรพคุณของเคลที่ว่ามานี้ ทำให้ทีมวิจัยได้พัฒนาต่อยอดสร้างมูลค่าเพิ่มเคลอินทรีย์ให้สูงขึ้นอีก โดยการนำไปแปรรูปด้วยกระบวนการทำให้แห้งแล้วนำมาบดให้ละเอียดนำใส่บรรจุภัณฑ์ที่ทันสมัยสอดคล้องกับความต้องการของตลาดเพื่อเป็นทางเลือกให้กับผู้บริโภคเนื่องจากสามารถนำมาชงดื่มเป็นชา ชงดื่มกับน้ำผลไม้ ใส่ในสลัด หรือใส่ในอาหารสูตรต่าง ๆ
นอกจากนี้ยังได้มีการขยายผลต่อยอดองค์ความรู้สร้างเป็นนวัตกรรมชุมชน เช่น กลุ่มเกษตรกรอินทรีย์จังหวัดนครนายก ศูนย์การเรียนรู้ ชลพฤกษ์ฟาร์มสุข ตำบลบ้านพร้าว อำเภอบ้านนา จังหวัดนครนายก เพื่อการเชื่อมโยงช่องทางการตลาด ได้แก่ ตลาดสีเขียว ขายตรงหน้าฟาร์ม และขายตรงให้แก่ครัวโรงแรม ขณะเดียวกันการพัฒนาการปลูกเคลอินทรีย์สามารถสร้างรายได้กิโลกรัมละ 350 - 450 (เคลทั่วไปราคากิโลกรัมละ 200 – 250 บาท) ซึ่งคิดเป็นมูลค่าเพิ่มอย่างน้อยร้อยละ 75 อีกทั้งกระบวนการผลิตเคลอินทรีย์ ยังช่วยลดต้นทุนการผลิตได้อีกด้วย
Post a Comment