เครือข่ายโรงเรียนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา ชวนส่งต่อการให้ไม่สิ้นสุด กับแคมเปญ “ให้โอกาสเป็นของขวัญ” ร่วมอุดหนุน 12 งานคราฟคัดสรร ด้วยฝีมือและพรสวรรค์ของน้องๆทุนเสมอภาคและเพื่อนๆโรงเรียนนานาชาติ
ปีใหม่นี้ กสศ.- Sea (ประเทศไทย) – เครือข่ายโรงเรียนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา ชวนส่งต่อการให้ไม่สิ้นสุด กับแคมเปญ “ให้โอกาสเป็นของขวัญ” ร่วมอุดหนุน 12 งานคราฟคัดสรร ด้วยฝีมือและพรสวรรค์ของน้องๆทุนเสมอภาคและเพื่อนๆโรงเรียนนานาชาติ
จากโครงการ Equity – Partnership Season 4 ดร.ไกรยส ภัทราวาท ผู้จัดการกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) เปิดเผยว่า กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา ได้จับมือกับ Sea (ประเทศไทย) ผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตแพลตฟอร์มชั้นนำ อาทิ ช้อปปี้ (Shopee) และเครือข่ายโรงเรียนนานาชาติ เดินหน้าแคมเปญ “ให้โอกาสเป็นของขวัญ”
โดยได้สานต่อจากแนวคิดของตลาดวาดฝันที่นำผลิตภัณฑ์ของนักเรียนทุนเสมอภาคมาเพิ่มมูลค่าทางการตลาด โดยในครั้งนี้ยังคงนำเสนอผลิตภัณฑ์และของที่ระลึกจากนักเรียนทุนเสมอภาค กสศ. 12 โรงเรียน และนักเรียนจากโรงเรียนนานาชาติ 7 โรงเรียน ที่เข้าร่วมโครงการพัฒนาความยั่งยืนของนวัตกรรมเครือข่ายสถานศึกษาเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (Equity Partnership’s School Network 4) ที่สานต่อภูมิปัญญาชุมชน โดยได้จับมือกันพัฒนางานหัตถกรรมต่างๆ ออกเป็นผลิตภัณฑ์หลากหลายรูปแบบ
“กสศ. มีความตั้งใจสนับสนุนให้เกิดกิจกรรมเพื่อพัฒนาทักษะอาชีพ เสริมทักษะชีวิตให้แก่นักเรียนทุนเสมอภาคที่มีความพร้อมและมีศักยภาพในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ เพราะเด็กทุกคนมีศักยภาพที่จะพัฒนาตนเอง หากด้วยข้อจำกัดต่างๆ ทำให้ไม่สามารถต่อยอดและพัฒนาพรสวรรค์ในตัวเองได้ ซึ่งโครงการนี้ได้จัดขึ้นต่อเนื่องเป็นปีที่ 4 แล้ว เพื่อต่อยอดความสำเร็จที่เกิดขึ้นในสามปีแรก ได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดีจากภาคเอกชนและภาคประชาชน และยังสร้างรายได้กลับคืนสู่โรงเรียนเครือข่าย กระจายรายได้สู่ท้องถิ่น ที่สำคัญยังเกิดเครือข่ายนานาชาติในการร่วมกันออกแบบกิจกรรมที่มีเป้าหมายร่วมกัน ในการสร้างหลักประกันโอกาสทางการศึกษา ที่จะเป็นกุญแจดอกสำคัญในการลดความเหลื่อมล้ำ” ดร.ไกรยส กล่าว
ดร.ไกรยส กล่าวย้ำเติมว่า โครงการดังกล่าวคือตัวอย่างของการลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา ที่ลงมือทำได้โดยไม่ต้องใช้งบประมาณจำนวนมาก แต่อาศัยความร่วมมือ ร่วมใจจากหลากหลายภาคส่วน ในการระดมความเชี่ยวชาญ ประสบการณ์ เติมเต็มความรู้ ทักษะชีวิต ทักษะอาชีพให้กับเด็กๆ เป็นคุณค่าของ ALL FOR EDUCATION ปวงชนเพื่อการศึกษา ที่สำคัญยังช่วยเสริมทักษะที่สำคัญต่อโลกยุคปัจจุบันใน 3 ด้าน ได้แก่
1.ความเข้าใจในวัฒนธรรมที่แตกต่าง 2.ทักษะความคิดสร้างสรรค์ในยุคศตวรรษที่ 21 และ3.ทักษะการเป็นผู้ประกอบการออนไลน์ให้กับเด็กและเยาวชน ซึ่งนับเป็นนวัตกรรมในการสร้างความเสมอภาคทางการศึกษา จากการสร้างพื้นที่แลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างเครือข่ายที่มีเป้าหมายร่วมกัน และภายใต้แนวคิดที่มุ่งสร้างสรรค์พื้นที่สังคมแห่งความร่วมมือและมิตรภาพวันนี้ ทาง กสศ. และภาคีเครือข่าย ได้เล็งเห็นความสำคัญส่วนนี้
จึงอยากเชิญชวนให้สังคมเข้ามามีส่วนร่วมตามความถนัดของตัวเอง และช่วยกันมองว่าจะทำอย่างไรให้เด็กๆกลับสู่เส้นทางการพัฒนาศักยภาพ รวมถึงการเรียนรู้ทักษะอาชีพ เพื่อเปลี่ยนแปลงเส้นทางอนาคตของพวกเขาได้
คุณพุทธวรรณ สุภัทรนันท์ ผู้อำนวยการฝ่ายสื่อสารองค์กร SEA (ประเทศไทย) กล่าวว่า ในปีนี้ sea (ประเทศไทย) ในนามของ Shopee ได้เข้าร่วมโครงการพัฒนาความยั่งยืนของนวัตกรรมเครือข่ายสถานศึกษาเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (Equity Partnership’s School Network) ต่อเนื่องเป็นปีที่ 2 แล้ว ประโยชน์ของโครงการที่เห็นได้ชัดคือ น้อง ๆ นักเรียนในพื้นที่ห่างไกลกับเครือข่ายโรงเรียนนานาชาติ ได้ร่วมเรียนรู้การใช้เทคโนโลยีในการต่อยอดการขายผลิตภัณฑ์ให้ชุมชนจนเกิดรายได้จริง การได้เข้ามาเรียนรู้ด้วยกันเหมือนกับเป็นการเปิดโอกาสให้เด็ก ๆ ได้เปิดใจ ทดลองทำธุรกิจบนแพลตฟอร์มที่เป็นรูปแบบใหม่ ๆ เมื่อได้ทดลองทำจะเห็นว่า Shopee มีเครื่องไม้เครื่องมือที่สามารถช่วยให้ผลิตภัณฑ์ได้รับการมองเห็นจากกลุ่มเป้าหมายได้เพิ่มขึ้น โดยที่มีต้นทุนในการใช้งานที่ต่ำไม่ต้องลงทุนมาก นอกจากนี้ ยังมีบริษัทเอกชนต่าง ๆ เห็นความสวยงามของผลิตภัณฑ์แล้วสั่งเป็นของขวัญปีใหม่เป็นจำนวนมาก ถือว่าเป็นอีกช่องทางสำคัญที่เราทุกคนจะเข้ามาช่วยกันสนับสนุนศักยภาพของน้องๆ นักเรียนให้สำเร็จตามฝัน
“Sea (ประเทศไทย) มีความยินดีที่ได้เป็นส่วนหนึ่งในความร่วมมือของโครงการฯ อย่างต่อเนื่องเป็นปีที่ 4 ด้วยการสนับสนุนช่องทางการจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์ที่พัฒนาโดยนักเรียนบนแพลตฟอร์มออนไลน์ สร้างรายได้กลับคืนสู่นักเรียนได้จริง พร้อมต่อยอดการสร้างอาชีพในอนาคตให้กับนักเรียน และรวมไปถึงการพัฒนาทักษะการเป็นผู้ประกอบการดิจิทัลผ่านการลงมือทำจริง และการลดช่องว่างทักษะดิจิทัล และร่วมลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา” ผู้อำนวยการฝ่ายสื่อสารองค์กร SEA (ประเทศไทย) กล่าว
Mr.Gregory Threlfall ผู้อำนวยการฝ่ายเผยแพร่องค์ความรู้ โรงเรียนนานาชาติโชรส์เบอรี่ กรุงเทพฯ กล่าวว่า โครงการพัฒนาความยั่งยืนของนวัตกรรมเครือข่ายสถานศึกษาเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (Equity Partnership’s School Network 4) ถือเป็นเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพในการลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา โดยเฉพาะอย่างยิ่งการสร้างความเสมอภาคระหว่างเด็ก ๆ จากโรงเรียนในเมืองกับเด็ก ๆ จากโรงเรียนในต่างจังหวัด ผ่านการสร้างประสบการณ์แลกเปลี่ยนเรียนรู้ที่มีคุณค่า ซึ่งไม่เพียงสร้างมิตรภาพระหว่างกัน แต่ยังก่อให้เกิดการบูรณาการทักษะอื่น ๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อการดำเนินชีวิตทั้งในปัจจุบันและอนาคตอีกด้วย
สำหรับในซีซั่น 4 นี้ได้พัฒนาผลิตภัณฑ์ที่หลากหลายกว่า 12 ผลิตภัณฑ์พร้อมการ์ดขอบคุณแทนใจจากน้องๆ นักเรียน อาทิ โรงเรียนเพียงหลวง 16 จังหวัดเชียงรายกับโรงเรียนนานาชาติโชรส์เบอรี ได้พัฒนากระเป๋าผ้าใยกัญชง ผลิตจากเส้นใยธรรมชาติ มีความเหนี่ยว ทนทาน แบบคล้องแขน ตัวกระเป๋ากว้าง 7 นิ้ว สูง 8 นิ้ว สายกระเป๋าหนัง PVC สีน้ำตาลกระเป๋ามี 2 สี : ผ้าทอสีพื้น, ผ้าทอลาย
กระเป๋าผ้าใยกัญชง เสื้อทอมือปักลวดลายสีสันจากขุนเขา
โรงเรียนบ้านแม่โต๋ จังหวัดเชียงใหม่ กับโรงเรียนนานาชาติเด่นหล้า น้องๆสองโรงเรียนได้พัฒนาเสื้อทอมือปักลวดลายสีสันจากขุนเขาตกแต่งด้วยลูกเดือยธรรมชาติมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว เนื้อผ้านิ่มสวมใส่สบาย สีไม่ตก ดีไซน์เก๋เอวลอย
ขณะที่โรงเรียนบ้านตะเคียนกูยวิทยา จังหวัดสุรินทร์ กับโรงเรียนนานาชาติเซนต์แอนดรูส์กรุงเทพ พัฒนาหมวกทรง Bucket ขนาด 55-58 ซม. มีสายคล้อง ตกแต่งขอบหมวกด้วยการแซวเส้นไหมหลากสี /หมอนอิงผ้าลายลูกแก้ว ขนาด 40*40 ซม. มี 2 สี สีดำและสีครีม มีการแซวเส้นไหมรูปหน้าช้างกลางหมอน ตกแต่งด้วยพู่เส้นไหม 4 มุม
สำหรับโครงการนี้จัดขึ้นเป็นปีที่ 4 มีโรงเรียนในเครือข่าย กสศ. เข้าร่วมจำนวน 12 โรงเรียน ได้แก่ 1.โรงเรียนเพียงหลวง 16 อ.เทิง จ.เชียงราย 2.โรงเรียนชุมชนดอยช้าง จ. เชียงราย 3.โรงเรียนบ้านขุนกลาง จ. เชียงใหม่ 4. โรงเรียนบ้านแม่โต๋ จ. เชียงใหม่ 5.โรงเรียนบ้านทับเบิกร่วมใจ จ. เพชรบูรณ์ 6.โรงเรียนศรีโพนทองวิทยา จ. นครพนม 7.โรงเรียนบ้านสามขามิตรภาพที่ 3 จ. มุกดาหาร 8.โรงเรียนบ้านแกใหญ่ จ. สุรินทร์ 9.โรงเรียนบ้านตะเคียนกูยวิทยา จ. สุรินทร์ 10.โรงเรียนบ้านโนนกุ่มมิตรภาพที่ 2 10.จ. นครราชสีมา 11. โรงเรียนวัดหุบกระทิง จ. ราชบุรี 12. โรงเรียนบ้านหนองธง จ. พัทลุง
พร้อมด้วยเครือข่ายโรงเรียนนานาชาติที่เข้าร่วมโครงการ 7 โรงเรียน ได้แก่ 1 โรงเรียนนานาชาติโชรส์เบอรี 2. โรงเรียนนานาชาติเด่นหล้า 3. โรงเรียนนานาชาติเซนต์แอนดรูส์กรุงเทพ 4. โรงเรียนสาธิตประสานมิตร หลักสูตรนานาชาติ 5. โรงเรียนนานาชาติบางกอกเพรพ 6. โรงเรียนนานาชาติรักบี้ 7. โรงเรียนกรุงเทพคริสเตียนวิทยาลัย
ทั้งนี้ ผลิตภัณฑ์ทั้งหมดจะจัดจำหน่ายแบบพิเศษสุด (Exclusive) ผลิตภัณฑ์ละ 50 ชิ้นเท่านั้น บนแพลตฟอร์ม Shopee(แคมเปญ 12.12) ตั้งแต่วันนี้ โดยสามารถเข้าไปเลือกซื้อสินค้าได้ที่ https://www.eef.or.th/equity-partnerships-school-network-season-4/ หรือดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน Shopee ได้จากทั้ง Play Store และ Apple Store โดยรายได้จากการจำหน่ายทั้งหมดจะนำกลับคืนให้กับนักเรียนทุนเสมอภาคในโรงเรียนสังกัด สพฐ.โดยไม่หักค่าใช้จ่ายเพื่อให้เด็กๆ นำไปต่อยอดเพื่อส่งเสริมด้านการพัฒนาทักษะอาชีพในอนาคต หรือร่วมสนับสนุนทุนต่อยอดการพัฒนาทักษะอาชีพให้กับน้องๆ ได้ที่ https://www.eef.or.th/donate/ สามารถลดหย่อนภาษีได้ 2 เท่า
Post a Comment