วิศวฯ จุฬาฯ ร่วมกับสถานีวิทยุจุฬาฯ จัดการประกวดแนวคิดริเริ่มด้านสิ่งแวดล้อมรอบชนะเลิศ (Final Pitching) ภายใต้โครงการ Envi Mission ภารกิจรักษ์สิ่งแวดล้อม ปีที่ 3 “Make It Balance: มั่นคงรอบด้าน อาหาร-น้ำ-พลังงาน”
วิศวฯ จุฬาฯ ร่วมกับสถานีวิทยุจุฬาฯ
จัดการประกวดแนวคิดริเริ่มด้านสิ่งแวดล้อมรอบชนะเลิศ (Final Pitching) ภายใต้โครงการ Envi Mission ภารกิจรักษ์สิ่งแวดล้อม ปีที่ 3 “Make It Balance: มั่นคงรอบด้าน อาหาร-น้ำ-พลังงาน”
วันนี้ (9 กันยายน 2565) คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกับ สถานีวิทยุแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดการประกวดแนวคิดริเริ่มด้านสิ่งแวดล้อมรอบชนะเลิศ (Final Pitching) ภายใต้โครงการ Envi Mission ภารกิจรักษ์สิ่งแวดล้อม ปีที่ 3 “Make It Balance: มั่นคงรอบด้าน อาหาร-น้ำ-พลังงาน” ณ หอแสดงดนตรี อาคารศิลปวัฒนธรรม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ก่อนเริ่มการแข่งขันรอบชิงชนะเลิศ (Final Pitching) ของโครงการฯ ได้รับเกียรติจาก นายตรีเทพ ไทยคุรุพันธ์ กรรมการผู้อำนวยการสถานีวิทยุแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้กล่าวต้อนรับและกล่าวสรุปผลการจัดกิจกรรมของโครงการฯ ที่ผ่านมา โดยมีใจความสำคัญดังนี้ สถานีวิทยุแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยในฐานะสื่อมวลชนได้ตระหนักถึงความสำคัญเรื่องสิ่งแวดล้อมมาโดยตลอด ทั้งด้านการศึกษาและเผยแพร่ความรู้เรื่องสิ่งแวดล้อมเพื่อสร้างความตระหนักรู้ (awareness) ผ่านรายการ Envi Insider ทางคลื่นวิทยุ FM 105 MHz โดยมีอาจารย์จากคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยและผู้เชี่ยวชาญจากหลากหลายสาขาวิชามาเป็นผู้เผยแพร่ความรู้ด้านสิ่งแวดล้อมให้กับประชาชนทั่วไป จึงเป็นที่มาของความร่วมมือระหว่างคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และสถานีวิทยุแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในการทำโครงการ ENVI Mission ภารกิจรักษ์สิ่งแวดล้อม ซึ่งได้ดำเนินงานมาอย่างต่อเนื่องเป็นปีที่ 3 แล้ว และในปีนี้โครงการฯ ดังกล่าวได้จัดขึ้นภายใต้หัวข้อ “Make It Balance: มั่นคงรอบด้าน อาหาร-น้ำ-พลังงาน” โดยมีเป้าหมายเพื่อปลูกฝังแนวคิดรักษ์สิ่งแวดล้อมให้กับนักเรียนระดับชั้นมัธยมศึกษาทั่วประเทศ ส่งเสริมให้นักเรียนนำความรู้และประสบการณ์ที่ได้รับจากการเข้าร่วมโครงการฯ ไปประยุกต์ใช้ในการแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นจริงในชุมชนของตนเองผ่านการทำโครงงาน ซึ่งได้เริ่มดำเนินโครงการฯ มาตั้งแต่เดือนมีนาคม 2565 โดยในปีนี้มีผู้สมัครเข้าร่วมโครงการฯ จำนวน 201 ทีม จากโรงเรียนระดับมัธยมศึกษา
ทั่วประเทศ ซึ่งแต่ละทีมประกอบไปด้วยนักเรียน จำนวน 3 คน และอาจารย์ที่ปรึกษา จำนวน 1–2 คน โดยทีมที่ผ่านการคัดเลือกรอบแรกจำนวน 30 ทีมได้เข้าร่วมการประชุมเชิงปฏิบัติการ ณ ศูนย์เครือข่ายการเรียนรู้
เพื่อภูมิภาค จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จังหวัดสระบุรีเป็นเวลา 3 วัน 2 คืน หลังจากนั้นทีมที่ได้รับการคัดเลือกเข้าสู่รอบชิงชนะเลิศจำนวน 10 ทีมได้เข้าร่วมกิจกรรมเหลาคม (sharpening activities) เพื่อพัฒนาทักษะที่จำเป็นก่อนเข้าร่วมการแข่งขันรอบชิงชนะเลิศ
ในการแข่งขันรอบชิงชนะเลิศ ได้รับเกียรติจากคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ คือ
1. ผศ.ดร.อุ่นเรือน เล็กน้อย รองผู้อำนวยการสถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
2. อ.ดร.ภวิสร ชื่นชุ่ม อาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมแหล่งน้ำ คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาฯ
3. ดร.ทวีศักดิ์ บรรลือสินธุ์ กรรมการ บริษัท เอสโซ่(ประเทศไทย) จำกัด มหาชน
4. คุณชุลีกร ทองเผือก CSR and Sustainability Development Manager บมจ.โรงแรมเซ็นทรัลพลาซา
5. ดร.ณัฐวิญญ์ ชวเลิศพรศิยา ผอ.โครงการ Industrial Liaison Program (ILP) คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาฯ
6. คุณก่อเขต จันทเลิศลักษณ์ ผู้อำนวยการฝ่ายข่าว สถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส
7. คุณกมลาสน์ เอียดศรีชาย ผู้ประกาศข่าว 7 HD และผู้ผลิตสกู๊ปข่าวสิ่งแวดล้อม "กรีนรีพอร์ต"
ทีมที่ได้รับการคัดเลือก จำนวน 10 ทีม ได้นำเสนอผลงานแนวคิดริเริ่มด้านสิ่งแวดล้อมของทีมตนเองและตอบคำถามจากคณะกรรมการรวมเป็นเวลา 10 นาที โดยผลการแข่งขันรอบชิงชนะเลิศมีรายละเอียดดังนี้รางวัลชนะเลิศ จำนวน 1 รางวัล ได้แก่ ทีม Liquid จากโรงเรียนวิสุทธรังษี จังหวัดกาญจนบุรี ได้รับเงินรางวัล 30,000 บาท โดยได้นำเสนอแนวคิดการนำซากอ้อยแปรรูปเป็นพลังงานสะอาด ลดปัญหามลพิษและสร้างรายได้ให้กับชุมชน ทั้งนี้สมาชิกในทีมประกอบไปด้วย (1) นายนนนท์ ศิลปาภิสันทน์ (2) นายปานตะวัน พวงแก้ว และ (3) นายปุณยวีร์ ตันติปิธรรม โดยมีอาจารย์ที่ปรึกษาคือ นายทศพล สุวรรณพุฒ และนางสาวกุลปริยา ศิริพันธุ์ เป็นผู้ให้คำปรึกษา
รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 จำนวน 1 รางวัล ได้แก่ ทีม Success จากโรงเรียนหาดใหญ่วิทยาลัย 2 จังหวัดสงขลา ได้รับเงินรางวัล 20,000 บาท โดยได้นำเสนอแนวคิด อาหารปลากะพงจากหนอนแมลงวันลายเพื่อลดการเกิดน้ำเสียในลุ่มน้ำทะเลสาปสงขลา ทั้งนี้สมาชิกในทีมประกอบไปด้วย (1) เด็กชายเกียรติศักดิ์ ยูงทอง (2) เด็กชายธีรภัทร บุญรัตนธนากร และ (3) เด็กหญิงเครือวัลย์ สีดำอ่อน โดยมีอาจารย์ที่ปรึกษา คือนายพงศธร ปัญญานุกิจ และ นางสาวนางสาวนริสรา เกิดพุ่ม ผู้ให้คำปรึกษา
รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 จำนวน 1 รางวัล ได้แก่ ทีม The T.W. Energy จากโรงเรียนตระกูลประเทืองวิทยาคม จังหวัดยโสธร ได้รับเงินรางวัล 10,000 บาท โดยได้นำเสนอแนวคิดการนำน้ำมันยางนามาใช้เป็นพลังงานทดแทนในเครื่องยนต์ทางการเกษตร ทั้งนี้สมาชิกในทีมประกอบไปด้วย (1) นายภานุวัฒน์ คณาชอบ (2) นายกฤตพล พละศรี และ (3) นายเอกภพ โศรกศรี โดยมีอาจารย์ที่ปรึกษาคือ นางสาวพร พันธ์สุข และ นางสาวบังอร นิลกิจ ผู้ให้คำปรึกษา
รางวัลชมเชย จำนวน 2 รางวัล ได้แก่ ทีมหวังจุฬาฯ จากโรงเรียนอุตรดิตถ์ จังหวัดอุตรดิตถ์ และทีม Exynos Tiger จากโรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย ปทุมธานี จังหวัดปทุมธานี ได้รับเงินรางวัล
ทีมละ 5,000 บาท โดยทีมหวังจุฬาฯ ได้นำเสนอแนวคิดการจัดการทรัพยากรน้ำให้ได้มาตรฐานต่อการใช้อุปโภค บริโภคและเพียงพอต่อระบบสาธารณูปโภคในชุมชน ทั้งนี้สมาชิกในทีมประกอบไปด้วย (1) นางสาวณัฐฐากานต์ ไชยสอน (2) นางสาววันวิสาข์ จินดาขันธ์ และ (3) นางสาวเขมจิรา พุกอินทร์ โดยมีอาจารย์ที่ปรึกษา คือนางสาวแสงแก้ว พานจันทร์ และนางสาวศิลป์ศุภา ติ๊บตุ้ย เป็นผู้ให้คำปรึกษา ส่วนทีม Exynos Tiger ได้นำเสนอแนวคิด นวัตกรรมการปลูกข้าวสมัยใหม่โดยการประยุกต์ใช้ SRI ทั้งนี้สมาชิกในทีมประกอบไปด้วย (1) นาย ชิติพัทธ์ คงทองวัฒนา (2) นายณัฐวัฒน์ หงษ์เวียงจันทร์ และ (3) นาย ภวัต รัตนโสม โดยมีอาจารย์ที่ปรึกษาคือ นาย ขุนทอง คล้ายทอง และนางสาวช่อรัก วงศ์สวรรค์ เป็นผู้ให้คำปรึกษา
หลังจากการแข่งขันรอบชิงชนะเลิศเสร็จสิ้น ศาสตราจารย์ ดร.พิสุทธิ์ เพียรมนกุล เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ได้กล่าวแสดงความยินดีและกล่าวปิดโครงการฯ โดยมีใจความสำคัญดังนี้ จากการดำเนินโครงการฯ ในช่วงเกือบ 6 เดือนที่ผ่านมา เราได้เห็นแนวคิดและศักยภาพของเยาวชนคนรุ่นใหม่ในการนำเสนอแนวคิดริเริ่มด้านการจัดการสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะอย่างยิ่งปัญหาเกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติ ซึ่งมีความหลากหลายและเกี่ยวข้องกับผู้มีส่วนเกี่ยวข้องจากหลายภาคส่วน ดังนั้นการจัดการทรัพยากรธรรมชาติจึงมีความสลับซับซ้อน ไม่ได้พิจารณามิติใดมิติหนึ่งเพียงมิติเดียว เมื่อเกิดการใช้ประโยชน์หรือการจัดการทรัพยากรธรรมชาติอย่างใดอย่างหนึ่ง ย่อมส่งผลต่อทรัพยากรธรรมชาติชนิดอื่น ๆ ตามมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งทรัพยากรอาหาร น้ำ และพลังงาน จึงเป็นที่มาและความสำคัญของแนวคิดความสัมพันธ์เชื่อมโยงระหว่างอาหาร-น้ำ-พลังงาน (food-water-energy nexus) ซึ่งเป็นหัวข้อหลักในการดำเนินโครงการฯ ปีนี้ และในวันนี้ทั้ง 10 ทีมได้แสดงศักยภาพออกมาอย่างเต็มความสามารถ อย่างไรก็ตามการแก้ปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมไม่ใช่เรื่องของใครคนใดคนหนึ่ง หากแต่เป็นหน้าที่และความรับผิดชอบของพวกเราทุกคน ดังนั้นแนวคิดริเริ่มด้านการจัดการสิ่งแวดล้อมของทั้ง 10 ทีมและของอีก 191 ทีมที่ไม่ได้รับการคัดเลือกเข้าสู่รอบชิงชนะเลิศล้วนมีความสำคัญ หลังจากโครงการฯ นี้ได้ดำเนินงานเสร็จสิ้นลงไปแล้ว หวังเป็นอย่างยิ่งว่าเยาวชนคนรุ่นใหม่ที่ได้มาเข้าร่วมโครงการฯ กับเราจะยังคงพัฒนาและต่อยอดแนวความคิดของทีมตนเองไปสู่การปฏิบัติ อันเป็นส่วนหนึ่งของการขับเคลื่อนและพัฒนาประเทศในด้านสิ่งแวดล้อมเพื่อมุ่งสู่ Thailand Inclusive Growth ไปด้วยกัน ...
Post a Comment