วช.จับมือ PMU สร้างโอกาสและอนาคต ด้วยวิจัยและนวัตกรรม

วช.จับมือ PMU สร้างโอกาสและอนาคต ด้วยวิจัยและนวัตกรรม

สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เปิดเวทีเสวนา ระดมความคิดเห็นร่วมกับหน่วยบริหารและจัดการทุนหรือ PMU 4 แห่ง ได้แก่ สวก. บพค. บพท. และ NIA ขับเคลื่อนงานวิจัยเพื่อการยกระดับความสามารถ และ การแข่งขันของประเทศ ในงาน “มหกรรมงานวิจัยแห่งชาติ 2565 ” ณ ห้องเวิลด์บอลรูม ชั้น 23 โรงแรมเซ็นทาราแกรนด์ และบางกอกคอนเวนชันเซ็นเตอร์ เซ็นทรัลเวิลด์ กรุงเทพฯ ที่ผ่านมา ภายใต้หัวข้อ Competitiveness & Creative Economy โอกาสและอนาคตด้วยวิจัยและนวัตกรรม 

    
นายสมปรารถนา สุขทวี รองผู้อำนวยการ สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ กล่าวว่า นับเป็นนิมิตรหมายที่ดีที่ค่าใช้จ่ายด้านการวิจัยและพัฒนาของประเทศมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นจาก 0.21 เปอร์เซ็นต์ ของ จีดีพี เป็น 1.3 เปอร์เซ็นต์ ของ จีดีพี ถือเป็นการขยับค่าใช้จ่ายที่สูงมาก จากการขับเคลื่อนของภาคส่วนต่างๆ และตั้งเป้าจะเป็นร้อยละ 2 เปอร์เซ็นต์ ของ จีดีพี ในอีก 5 ปี ข้างหน้า ซึ่งน่าจะเป็นไปได้ด้วยนโยบายของรัฐบาลและเครือข่ายวิจัย หลังจากการปรับโครงสร้างงานวิจัย บวกกับเศรษฐกิจเชิงสร้างสรรค์ก็น่าจะเป็นตัวขับเคลื่อนอีกแรง เมื่อมีงบประมาณและนักวิจัย เชื่อว่าขีดความสามารถจะขยับตามเป้าที่วางไว้หรืออาจจะเกินเป้าด้วยซ้ำ ณ วันนี้ เชื่อว่ากิจกรรมการสนับสนุนงานวิจัยของ PMU จะมีผลต่อการจัดอันดับความสามารถของประเทศไทย ที่ผ่านมา วช. ได้ให้การสนับสนุนงานวิจัยในระดับชุมชนค่อนข้างมาก การยกระดับเศรษฐกิจฐานราก จากการท่องเที่ยวเมืองรอง ทำให้เกิดเพชรบุรี สู่เมืองสร้างสรรค์ด้านอาหารของยูเนสโก ดังนั้นในแง่ของกลไกการจัดสรรงบประมาณไม่มีปัญหา อุปสรรคอยู่ที่คน คนของเราต้องไม่ด้อยค่าผลิตภัณฑ์ที่เกิดจากงานวิจัย ถ้าเรายังมีความคิดเช่นนี้เราจะไปไหนไม่ได้เลย ถ้าคนของเราไม่ยอมรับเสียก่อน

   
 ดร.พันธ์อาจ ชัยรัตน์ ผู้อำนวยการสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) กล่าวว่า จากพัฒนาการ การจัดอันดับความสามารถระดับโลกของประเทศไทยดีขึ้นเรื่อย ๆ แต่ความสามารถในการ output กลับลดลง และกำลังเข้าสู่พื้นที่อันตรายในขณะที่ประเทศทั่วโลกกำลังก้าวกระโดด ถ้าจะหวังให้อยู่ใน 30 อันดับแรกของโลกในปี 2573 ควรจะมุ่งไปที่การขับเคลื่อนงานวิจัยเพื่อเศรษฐกิจเชิงสร้างสรรค์ แต่ปัญหา คือ สังคมไทยเป็นสังคมที่เสพเรื่องราวที่เกิดขึ้นมาก แต่ผลิตน้อย การที่เราจะขับเคลื่อนเศรษฐกิจเชิงสร้างสรรค์ จะต้องเริ่มจากการสร้างคนผลิตเรื่องราวที่เป็นสะพานเชื่อมโยงได้กับเทคโนโลยี เพื่อนำไปสู่กระแสโลก
    
ดร. กิตติ สัจจาวัฒนา ผู้อำนวยการหน่วยบริหารและจัดการทุนวิจัยและนวัตกรรมด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ กล่าวว่า เราเรียนรู้บริบทของโลกแต่ไม่จำเป็นต้องตาม รมว. อว. มอบให้เราส่งออกความรู้แบบไทย เราควรจะสู้ในสงครามที่เราชนะได้ ไม่ใช่สงครามที่ตามอยู่เป็นพันก้าว ทรวง.อว จึงต้องเป็นกระทรวงแห่งความรู้และการพัฒนา PMU เป็นหน่วยความรู้และนวัตกรรมสร้างการเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้น แต่วันนี้คนรวยที่สุดกับคนจนที่สุดต่างกันเกือบ 20 เท่า เราพูดถึงการแข่งขัน เราลืมมองให้คนสองส่วนไปด้วยกัน สิ่งที่บพท. ทำ ในช่วง 5 ปีจึงเป็นเรื่องของการเปลี่ยนจาก Global value มาเป็น Local value ผลักดันให้เกิด Local Enterprise กลับคืนสู่ถิ่นฐาน นำทุนศิลปะวัฒนธรรม มาเพิ่มมูลค่าโดยคนในพื้นที่จะต้องทำด้วยตนเอง ถ้าไม่สามารถเกาะเกี่ยวคนในพื้นที่ได้ ความยั่งยืนจะไม่เกิด 
   ศ.ดร.สมปอง คล้ายหนองสรวง ผู้อำนวยการหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนากำลังคน และทุนด้านการพัฒนาสถาบันอุดมศึกษาการวิจัยและการสร้างนวัตกรรม กล่าวว่า สิ่งที่ บพค.ทำ คือ การสนับสนุนคนดี คนเก่ง คนมีความสามารถ ให้เป็น very smart ,talent smart และ delight smart โดยมีเป้าหมายที่จะสร้างคนเหล่านี้ให้สามารถสร้าง smart content ให้ได้ 100-200 คนภายในปี 2570 ที่ผ่านมาเรามักจะคุยกันแต่ปัญหา ควรจะมาสร้างโอกาสใหม่ๆ อยากให้คิดว่าโอกาสอยู่เต็มไปหมด และคนไทยไม่ได้ด้อยไปกว่าใคร อย่าง BCG เราก็มีมากกว่าใคร คนไทยเรียนรู้และใช้ประโยชน์จาก BCG ตลอดเวลา ขอให้สร้างกำลังใจ มาสร้างโอกาสร่วมกัน นำความสามารถที่มี มาสร้างเศรษฐกิจเชิงสร้างสรรค์ เพิ่มขีดความสามารถด้วย DNA ของคนไทย
     ดร.สุวิทย์ ชัยเกียรติยศ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร กล่าวว่า จุดแข็งของประเทศไทยคือสินค้าเกษตรต้องรักษาคุณภาพยกระดับมาตรฐานความปลอดภัยให้มากขึ้นเรื่อย ๆ การแข่งขัน ก็จะอยู่ได้ ถ้าใครมีประเด็นสินค้าเกษตรตัวใดอยากส่งเสริมขีดความสามารถและมีทีมงาน ก็ช่วยบอกเข้ามาทาง สวก. ได้คิดว่ายังมีประเด็นหลงๆอยู่ที่จะเป็นการเพิ่มโอกาสของประเทศทางด้านการเกษตรซึ่งเป็นจุดแข็งของเรา 

ไม่มีความคิดเห็น