ทีมวิจัย มก.พัฒนาขนมสุนัข โดยใช้โปรตีนจากจิ้งหรีด



วช.หนุนทีมวิจัย มก. ใช้โปรตีนจากจิ้งหรีดพัฒนาผลิตภัณฑ์ขนมขบเคี้ยวสำหรับสุนัข  รองรับตลาดอาหารสัตว์เลี้ยงที่กำลังเติบโตสูง เผยโปรตีนจากแมลงนอกจากได้รับการยอมรับว่าคุณภาพดีแล้วยังเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ทีมวิจัยพร้อมผลักดันให้เกิดการจัดจำหน่ายทางการค้าและส่งออกผลิตภัณฑ์ไปจำหน่ายต่างประเทศได้



ดร.วิภารัตน์  ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ กล่าวว่า  สุนัขเป็นสัตว์เลี้ยงที่ได้รับความนิยมสูงและมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ  ส่งผลให้ธุรกิจอาหารสัตว์เลี้ยงขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งผู้เลี้ยงสุนัขส่วนใหญ่ในปัจจุบันมีความรู้ในการเลือกผลิตภัณฑ์อาหารสุนัขที่มีคุณภาพดี และยอมจ่ายแม้จะมีราคาที่สูงกว่า เพื่อให้เกิดผลดีต่อสุขภาพของสัตว์เลี้ยงรวมถึงเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม  กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) โดยสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) จึงได้สนับสนุนทุนวิจัยฯ ประจำปี พ.ศ. 2564 ให้กับโครงการ “การพัฒนาผลิตภัณฑ์ขนมขบเคี้ยวสำหรับสุนัขที่ส่งเสริมสุขภาพและเพิ่มมูลค่าทางการตลาดโดยใช้แหล่งโปรตีนทดแทนจากจิ้งหรีด"  ซึ่งมี ผศ.ดร.สุดาทิพย์ แซ่ตั้น จากคณะอุตสาหกรรมเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (มก.) เป็นหัวหน้าทีมวิจัย เพื่อศึกษากรณีการใช้จิ้งหรีดทองแดงลายมาเป็นวัตถุดิบอาหารสำหรับสุนัข และพัฒนาต่อเป็นผลิตภัณฑ์ขนมขบเคี้ยวสำหรับสุนัขโตเต็มวัย ตลอดจนสร้างมูลค่าให้กับห่วงโซ่อุตสาหกรรมจิ้งหรีดในประเทศไทย



ผศ.ดร.สุดาทิพย์  แซ่ตั้น กล่าวว่า จากการศึกษาตลาดพบว่า ธุรกิจอาหารสัตว์เลี้ยงของประเทศไทยยังคงมีแนวโน้มการขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องเช่นเดียวกับขนมขบเคี้ยว (Treats) ซึ่งเป็นสิ่งจำเป็นต่อสุนัข และมีส่วนแบ่งทางการตลาดที่สูงเหมือนกัน  โดยผู้เลี้ยงสุนัขส่วนใหญ่นิยมซื้อขนมสุนัขในรูปแบบของบิสกิตมากที่สุด ตามมาด้วยแบบกระดูกและแบบกัดแทะ   และผู้เลี้ยงสุนัขเหล่านี้จะให้ขนมแก่สุนัขเกือบทุกวัน โดยเฉลี่ย 2 ครั้งต่อวัน  ดังนั้นจะเห็นได้ว่า ขนาดของตลาดขนมขบเคี้ยวสำหรับสุนัขมีการขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างมากและผู้บริโภคยอมรับที่จะจ่ายในมูลค่าสินค้าที่สูง   




ทั้งนี้ ตามหลักโภชนศาสตร์สัตว์จะกำหนดให้สุนัขควรได้รับปริมาณขนมขบเคี้ยวน้อยกว่าร้อยละ 10 ของความต้องการทางโภชนาการของสุนัขต่อวัน เนื่องจากการให้ขนมขบเคี้ยวที่มากเกินไปอาจทำให้สุนัขได้รับสารอาหารไม่เพียงพอ  นอกจากนี้แหล่งวัตถุดิบหลักที่นิยมใช้ทำขนมขบเคี้ยวสำหรับสุนัขคือ ผลพลอยได้จากอุตสาหกรรม เช่น เนื้อ กระดูกป่นและเนื้อเยื่อของสัตว์แห้ง  ซึ่งถ้าได้รับในปริมาณมากเกินไปอาจจะส่งผลต่อสุขภาพสัตว์ได้



อย่างไรก็ตาม ในปัจจุบันผู้บริโภคมีความรู้เพิ่มมากขึ้น ทำให้พยายามคัดเลือกผลิตภัณฑ์จากแหล่งโปรตีนที่มีคุณภาพดีและยังมีความประสงค์ที่จะใช้แหล่งโปรตีนที่ยั่งยืนเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม  จึงมีความน่าสนใจที่จะเลือกใช้วัตถุดิบที่มาจากแมลง ซึ่งได้รับการยอมรับว่าเป็นแหล่งโปรตีนที่มีคุณภาพดีสำหรับสุนัข เนื่องจากมีกรดอะมิโนที่จำเป็นและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมรวมถึงมีความยั่งยืน   



ปัจจุบันมีงานวิจัยและผลิตภัณฑ์ในต่างประเทศที่นำจิ้งหรีดมาใช้ในอาหารสุนัข ซึ่งสามารถใช้เป็นส่วนประกอบในสูตรอาหารสุนัขได้มากถึงร้อยละ 24 แล้วไม่พบผลเสียต่อสุขภาพใด ๆ เมื่อเปรียบเทียบกับอาหารสุนัขสำเร็จรูปแบบทางการค้าตามท้องตลาดทั่วไป ฉะนั้นจิ้งหรีดจึงถือว่าเป็นโปรตีนทางเลือกชนิดใหม่สำหรับสุนัข  คณะผู้วิจัยจึงต้องการที่จะพัฒนาผลิตภัณฑ์ขนมขบเคี้ยวสำหรับสุนัขที่ส่งเสริมสุขภาพสุนัขโดยใช้แหล่งโปรตีนทดแทนจากจิ้งหรีด ซึ่งเป็นการเพิ่มมูลค่าของจิ้งหรีดและส่งเสริมเกษตรกรผู้เลี้ยงจิ้งหรีดให้มีรายได้เพิ่มขึ้น พร้อมกับการสร้างรากฐานให้กับอุตสาหกรรมจิ้งหรีดในประเทศไทยอย่างยั่งยืน 



“ทีมวิจัยได้ดำเนินการออกแบบสูตร ผลิตและวิเคราะห์หาค่าองค์ประกอบทางเคมีของขนมขบเคี้ยวสำหรับสุนัขโตเต็มวัย ซึ่งสามารถนำมาสร้างเป็นผลิตภัณฑ์สูตรขนมขบเคี้ยวสำหรับสุนัขที่มีส่วนผสมของจิ้งหรีดทองแดงลายร้อยละ 40 ในลักษณะของบิสกิต  และได้ทดสอบความน่ากินของผลิตภัณฑ์กับสุนัขโตหลากหลายสายพันธุ์พบว่า สุนัขสามารถยอมรับในขนมขบเคี้ยวที่มีจิ้งหรีดเป็นส่วนประกอบได้  นอกจากนี้ผลการทดสอบประสิทธิภาพยังพบว่าขนมขบเคี้ยวที่มีจิ้งหรีดเป็นส่วนประกอบมีความปลอดภัย โดยอัตราการย่อยของสุนัขไม่มีความแตกต่างเมื่อเทียบกับขนมขบเคี้ยวที่ไม่มีจิ้งหรีดเป็นส่วนประกอบ” 



ผศ.ดร.สุดาทิพย์ กล่าวว่า  จากผลการวิจัยทางด้านประสิทธิภาพและความปลอดภัยดังกล่าว ทีมวิจัย ฯ คาดว่าสามารถนำไปขึ้นทะเบียนอาหารสัตว์กับกรมปศุสัตว์ และสามารถต่อยอดผลิตเพื่อจัดจำหน่ายทางการค้าได้    ทั้งนี้จะมีการผลักดันให้สามารถส่งออกผลิตภัณฑ์ไปจำหน่ายต่างประเทศ   ซึ่งนอกจากจะช่วยสร้างมูลค่าและรายได้ให้แก่ประเทศในอนาคตแล้วยังเป็นการเพิ่มมูลค่าของผงจิ้งหรีดทองแดงลาย ส่งเสริมเกษตรกรผู้เลี้ยงจิ้งหรีดและเป็นองค์ความรู้แก่ประชาชนผู้ที่สนใจให้มีรายได้เพิ่มขึ้นอีกด้วย

ไม่มีความคิดเห็น