วช. มอบรางวัลนวัตกรรมสายอุดมศึกษา ประจำปี 2565 แก่ นิสิตจุฬาฯ “เพิร์ลสกิน : ครีมขัดผิวเกล็ดประกายมุก” จากเปลือกหอยแมลงภู่เหลือทิ้ง ในงานมหกรรมงานวิจัยแห่งชาติ ที่ผ่านมา

วช. มอบรางวัลนวัตกรรมสายอุดมศึกษา ประจำปี 2565 แก่ นิสิตจุฬาฯ “เพิร์ลสกิน : ครีมขัดผิวเกล็ดประกายมุก”  จากเปลือกหอยแมลงภู่เหลือทิ้ง 
ในงานมหกรรมงานวิจัยแห่งชาติ ที่ผ่านมา
สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม
มอบรางวัลให้แก่ นางสาวเมธีรัตน์ ธานีรัตน์ แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผลงานจากการประกวด
ระดับบัณฑิตศึกษาประเภท รางวัลการเขียนข้อเสนอผลงานนวัตกรรมสายอุดมศึกษา ประจำปี 2565 
ด้านพลังงาน สิ่งแวดล้อม และ BCG Economy Model “รางวัลระดับดีเด่น” และ รางวัลผลงานนวัตกรรมสายอุดมศึกษา ประจำปี 2565 “รางวัลระดับดีมาก” ให้กับผลงาน เรื่อง “เพิร์ลสกิน : ครีมขัดผิวเกล็ดประกายมุก” ในงาน “มหกรรมงานวิจัยแห่งชาติ 2565 (Thailand Research Expo 2022)” เมื่อวันที่ 1 – 5 สิงหาคม 2565 ที่ผ่านมา ณ โรงแรมเซ็นทาราแกรนด์ และบางกอกคอนเวนชันเซ็นเตอร์ เซ็นทรัลเวิลด์ กรุงเทพมหานคร
ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ กล่าวว่า วช. ภายใต้กระทรวง อว. ได้มีการส่งเสริมและสนับสนุนการพัฒนาบุคลากรด้านวิจัยและนวัตกรรม ในการให้รางวัลประกาศเกียรติคุณหรือยกย่องบุคคลหรือหน่วยงานด้านวิจัยและนวัตกรรม 
ซึ่งในงาน “มหกรรมงานวิจัยแห่งชาติ 2565 (Thailand Research Expo 2022)” ครั้งที่ 17 ได้มีการมอบรางวัลผลงานจากการประกวด 2 ประเภท ได้แก่ 1) รางวัลการเขียนข้อเสนอผลงานนวัตกรรมสายอุดมศึกษา ประจำปี 2565 และ 2) รางวัลผลงานนวัตกรรม
สายอุดมศึกษา ประจำปี 2565 โดยแบ่งออกเป็น 5 ด้าน ได้แก่ 1) ด้านการเกษตรและอุตสาหกรรมการเกษตร2) ด้านการสาธารณสุข สุขภาพ และเทคโนโลยีทางการแพทย์ 3) ด้านการพัฒนาเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ อุปกรณ์อัจฉริยะ 4) ด้านพลังงาน สิ่งแวดล้อม และ BCG Economy Model และ 5) ด้านการพัฒนาคุณภาพชีวิตและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ เพื่อเสริมสร้างและพัฒนาศักยภาพขีดความสามารถด้านการวิจัยและพัฒนานวัตกรรมในสถาบันการศึกษา โดยเสริมสร้างและถ่ายทอดองค์ความรู้ ทักษะเทคนิคด้านนวัตกรรม กระตุ้นและสร้างแรงจูงใจให้นิสิต/นักศึกษาเข้าใจและเห็นถึงความสำคัญของการวิจัยและพัฒนาสิ่งประดิษฐ์
ที่มีคุณภาพ ศักยภาพ และกลายเป็นบุคลากรทางการวิจัยของประเทศต่อไป 
นางสาวเมธีรัตน์ ธานีรัตน์ แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ปัญหาเปลือกหอยแมลงภู่เหลือทิ้ง จัดเป็นกากของเสียที่เกิดขึ้นจากอุตสาหกรรมอาหารทะเล ในลักษณะของการแกะเนื้อหอยเพื่อส่งขาย หรือการแกะเนื้อหอยเพื่อเข้าสู่โรงงานอุตสาหกรรมในการแปรรูป ทำให้เกิดการจ้างแรงงานแกะหอยแมลงภู่ในชุมชนและบริเวณใกล้เคียง ส่งผลทำให้เกิดขยะประเภทเปลือกหอยปริมาณมาก ขยะเปลือกหอยเหล่านี้ส่วนใหญ่กำจัดโดยวิธีการเทกองทิ้งบริเวณรอบที่พักอาศัย หรือ พื้นที่สาธารณะทั่วไป ก่อให้เกิดปัญหามลภาวะในอากาศกลิ่นเหม็นจากการเน่าเสีย เป็นแหล่งสะสมของเชื้อโรคสร้างความรำคาญใจให้กับคนในชุมชน ซึ่งเป็นปัญหาในการจัดการและการกำจัดขยะที่ประเทศไทยกำลังประสบปัญหาอยู่ในขณะนี้ ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและเศรษฐกิจ จึงเกิดความคิดที่ว่าจะแก้ไขปัญหาเปลือกหอยแมลงภู่ที่เหลือทิ้งได้อย่างไร นำไปสู่การคิดค้นการ
นำเปลือกหอยแมลงภู่ที่เหลือทิ้งกลับมาใช้ใหม่อย่างสร้างสรรค์จึงเกิดเป็นผลิตภัณฑ์ “เพิร์ลสกิน : ครีมขัดผิวเกล็ดประกายมุก” จากเปลือกหอยแมลงภู่
งานวิจัยนี้จึงได้นำหอยแมลงภู่ที่เหลือทิ้งมาใช้ประโยชน์ เพื่อลดขยะที่เกิดขึ้นจากภาคอุตสาหกรรมอาหารทะเลนำมาต่อยอดเกิดเป็นผลิตภัณฑ์ “เพิร์ลสกิน : ครีมขัดผิวเกล็ดประกายมุก” จากเปลือกหอยแมลงภู่ ที่มีเนื้อสัมผัสของเม็ดสครับจากเกล็ดประกายมุกที่มีความอ่อนโยนต่อผิวจากวัตถุดิบธรรมชาติ
ที่มีความบริสุทธิ์ และมีความปลอดภัยสูง สามารถทำความสะอาดผิวและรูขุมขนได้อย่างมีประสิทธิภาพ 
เป็นการขจัดเซลล์ผิวที่ตายแล้วหรือสิ่งสกปรกที่ตกค้าง ลดการอุดตันของรูขุมขน ลดโอกาสการเกิดสิว ช่วยฟื้นฟูสภาพผิวโดยการกระตุ้นการไหลเวียนของเลือดเร่งการผลัดเซลล์ผิวใหม่ ซึ่งผลิตภัณฑ์ “เพิร์ลสกิน : ครีมขัดผิวเกล็ดประกายมุก” เป็นการนำวัตถุดิบเกล็ดประกายมุกจากเปลือกหอยแมลงภู่มาทดแทนการใช้พลาสติกไมโครบีดส์ที่ทำจากพอลิเมอร์สังเคราะห์ และยังเป็นการแปรรูปขยะจากเปลือกหอยให้เป็นผลิตภัณฑ์สร้างมูลค่าเชิงพาณิชย์ยกระดับเศรษฐกิจชุมชนที่เชื่อมโยงกับวิถีชีวิตให้กับชุมชน
นับได้ว่าเป็นการบูรณาการ ในการพัฒนาต่อยอดนวัตกรรมเพื่อให้เกิดเศรษฐกิจหมุนเวียนในชุมชน
ได้อย่างยั่งยืนตามหลักการ BCG Economy Model

ไม่มีความคิดเห็น